สวัสดีวันอาทิตย์กับคอลัมภ์สุดสัปดาห์ยานยล กับผมหนุ่มร่างอ้วนอารมณ์ดี อ้วนซ่า แอบซิ่ง อีกเช่นเคย เห็นจั่วหัว “จับตาอนาคตยานยนต์ไทย” หลายๆท่านคงส่ายหน้าว่า โอ้ยได้ยิน ได้อ่านทุกวันว่าขายไม่ออกแน่ๆ เศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ต้องมาเขียนให้เมื่อยมือหรอก ไม่อยากอ่าน เพราะหากพูดถึงอนาคตอันใกล้นี้ก็แน่นอนว่า ค่ายรถทั้งหลายนั่งเครียดกันจนเป็น ฝรั่งหัวล้าน ยุ่นหัวหงอกไปตามๆกันเพราะพิษแฮมเบอร์เกอร์เน่า
ดังนั้นจะย้ำไปทำไมให้มันเจ็บกระดองใจเล่นล่ะครับ เราลองมาหาแง่มุมดีๆบ้างดีกว่า ได้ฟังนักวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจเขาเล่าให้ฟังว่า เห็นรถใหม่ขายไม่ออกแบบนี้แต่ตลาดอะไหล่ซ่อมรถกลับยังไปได้สวย เพราะคนเริ่มหันมาทำนุบำรุงให้อายุรถของตัวเองยาวขึ้น เพราะอยากจะชลอความแก่ของรถต่อไปอีกนี้ด ซึ่งอย่างน้อย ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส
ลองหันมามองเรื่องของอนาคตให้ไกลออกไปอีกนิด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อ้วนซ่า โชคดีได้รับเกียรติจากทางภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ไปเป็นกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบอกตามตรงว่าผลงานหลายๆชิ้นโดยเฉพาะผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนายานพาหนะในรูปแบบต่างๆของเหล่านิสิตหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ของรั้วจามจุรีนี้ทำให้อ้วนซ่าทึ่งว่า หนุ่มสาวไทยไปไกลขนาดนี้แล้วนะ ไม่ว่าจะเป็น ยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสินค้าที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้างของมดงาน มีจุดเด่นคือวงเลี้ยวแคบเป็นพิเศษเพื่อการเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วในพื้นที่ชุมชนคับคั่ง ที่ทำให้รถเวสป้าขนของทั้งหลายกลายเป็นความทรงจำอันขื่นขม หรือ รถจักรยานไฟฟ้าสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิสที่นอกจากจะมีรูปร่างเก๋ไก๋แล้วยังสามารถพับลดขนาดเพื่อพาขึ้นรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย รวมไปถึงแนวคิดรถจักรยานยนต์อนาคตในปี 2020 ที่มีความสนุกสนาน จากรูปทรงสีสันเส้นสายล้ำสมัย และเป็นที่น่าดีใจอีกด้วยว่าผลงานทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เน้นถึงการอนุรักษ์พลังงาน และลดมลพิษ และเป็นที่น่าปลื้มใจยิ่งขึ้นไปอีกที่ได้รู้ว่า ผลงานทั้งหลายนั้นได้รับความร่วมมือจากเหล่าผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น บริษัทจักรยานแอลเอ บริษัทจักรยานยนต์ไทเกอร์ และบริษัทฮอนด้า ที่เห็นคุณค่าของการพัฒนาบุคลากรระดับมันสมองเพื่อที่ในอนาคตพวกเขาเหล่านั้นจะกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป
น้องๆเค้าฝากข่าวมาว่า สัปดาห์หน้า ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมนี้ไปประมาณ 5 วันเค้าจะนำเอาผลงานของเขาไปจัดแสดงที่อาคาร จัตุรัสจามจุรี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ จามจุรีสแสควร์ คอมเพล็กซ์ใหม่เอี่ยมของจุฬาฯตรงหัวมุมสามย่าน นอกจากผลงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีงานออกแบบอื่นๆที่มีแนวคิดล้ำอีกหลายชิ้น หากท่านอยากรู้ว่าหนุ่มสาวไทยจะพาอุตสาหกรรมไปได้ไกลขนาดไหนขอเรียนเชิญครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น