วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

ไอเดียล้ำอนาคต


สุดยอดแห่งจินตนาการโลกความเร็วอนาคต

โลกของการแข่งรถ กับกระแสโลกร้อนดูจะเป็นเรื่องที่สวนทางกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสวาปามเชื้อเพลิง หรือการก่อมลภาวะ แต่ในโลกแห่งนักออกแบบ ไม่มีเรื่องใดที่จะหาคำตอบใหม่ๆไม่ได้ เหล่านักออกแบบจากสุดยอดสตูดิโอออกแบบรถยนต์ 9 ยี่ห้อ ได้ระเบิดจินตนาการแห่งโลกแห่งการแข่งขันความเร็วแห่งอนาคตในปี 2025 ที่โลกแห่งความเร็วกับโลกสีเขียวจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

แนวคิดของการสร้างสรรค์รถแข่งแห่งอนาคตของปี 2025 นี้เป็นการประชันไอเดียในงาน แอลเอ ออโต้ โชว์ 2008 (LA Auto Show 2008) และในปีนี้ก็นับเป็นปีที่ 5แล้วที่เราจะได้ตื่นตาความคิดสร้างสรรค์จาก ค่าย เอาดี้ บีเอ็มดับเบิ้ลยู จีเอ็ม ฮอนด้า มาสด้า มิตซูบิชิ เมอร์ซีดีสเบนส์ โตโยต้า และโฟลค์สวาเกน และแน่นอนที่ว่าผลงานในปีนี้ต่างก็สามารถนำจินตนาการของคนรักความเร็วให้มองไปในอีก 17 ปีข้างหน้าได้อย่างมีความหวังว่า โลกสีเขียวคงไม่น่าเบื่ออย่างที่กลัวกัน

เริ่มต้นที่ ผลงานของ เอาดี้ กับ เอาดี้ อาร์25 ( R-25) รถแข่งพลังไฟฟ้าจากค่ายสี่ห่วงที่มาพร้อมกับรูปแบบการแข่งขันใหม่ที่เป็นการแข่งในอุโมงค์ ที่สามารถชาร์จไฟแบบไร้สายได้ขณะวิ่งกันเลยทีเดียว และที่สำคัญยิ่งการแข่งในอุโมงค์ที่มาพร้อมกับรถแข่งที่สามารถสร้างดาวน์ฟอร์ซมหาศาลจะสามารถแล่นกลับหัวเพื่อการเร่งแซงจากเพดานอุโมงค์ ระวังศรีษะนะครับคุณสุภาพบุรุษ ผมจะแซงแล้ว.......

ตามติดมาด้วยรถพลังงานไฮโดรเจนเพื่อการแข่งความเร็วทางเรียบเหนือที่ราบทะเลเกลือ ( Salt Flat) จากบีเอ็มดับเบิ้ลยู ที่มาพร้อมแนวคิดการนำวัสดุพื้นๆเหลือใช้ที่หาได้ทั่วไปนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างรถ พร้อมไอเดียพิศดาร นำเอาปลาทอง มาเป็นส่วนหนึ่งของรถแข่ง โดยให้ปลาทองทำหน้าที่เหมือนเป็นดัชนีตรวจวัดคุณภาพน้ำในกระบวนการสร้างพลังงานของระบบไฮโดรเจน เสมือนนกคานารีที่นักขุดถ่านหินเลี้ยงไว้เพื่อตรวจปริมาณก๊าซพิษในเหมืองนั่นเอง ไอเดียแสนแหวกแนวแต่ไม่รู้ว่าจะทารุณสัตว์ไหมเนี่ย?

ค่ายรถอเมริกันพันธ์แท้อย่าง จีเอ็ม นำเสนอ ชาร์พาเรล โวลท์ (Chaparral Volt) แนวคิดของรถแข่งที่สามารถสร้างพลังงานได้จากแหล่งพลังงานที่มีไม่รู้จบทั้งสามคือ พลังจากโลก ลม และไฟ (Earth, Wind & Fire) ด้วยแนวคิด อีโค-ไตรเอทลอน (Eco-Triathlon) ที่สามารถสร้างพลังได้สภาพแวดล้อมไม่ว่า จะเป็นพลังที่ได้จากแรงของแรงดึงดูดโลก แรงจากกระแสอากาศ และแรงจากแสงอาทิตย์

ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี นำเสนอแนวคิดรูปแบบการแข่งขันที่ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงผืนดิน ภายใต้การแข่งขันที่ ฮอนด้าเรียกว่า รายการแข่งขัน เกรทเรซ 2025 ( Great Race 2025) ซึ่งสะท้อนจุดยืนที่ของฮอนด้าในฐานะบริษัทผู้ผลิตยานพาหนะทั้งบนดิน น้ำ และอากาศ (และยังเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ด้วย) โดยการแข่งขันในจินตนาการปี 2025 นี้ ผู้แข่งขันโดยจะต้องวิ่งตะบึงข้ามสหรัฐอเมริกา แหวกคลื่นข้ามเอเซีย และเหินเวหาข้ามยุโรป เดินทางรอบโลกภายใน 24 ชั่วโมงด้วยยานพาหนะเพียงคันเดียว (หรือ ลำเดียว?)เท่านั้น ยานแข่งของฮอนด้าจะสามารถแปลงร่างเป็นยานพาหนะแบบต่างๆตามแต่รูปแบบการแข่งขัน แหวกแนวสมกับเป็นญี่ปุ่นจริงๆ

ค่ายมาสด้า นำเสนอแนวคิดรถแข่งพลังไฟฟ้าทรงปราดเปรียวที่มีนามว่า ฆาน (Kaan) รถแข่งความเร็วในคลาส E-1 (ตั้งใจให้เป็นคู่แข่งรถ F-1 โดยตรง) ด้วยแนวคิดที่ว่าในปี 2025 พื้นถนนจะสร้างขึ้นให้สามารถถ่ายพลังงานไฟฟ้าไปสู่รถผ่านทางยางล้อชนิดพิเศษ และรถจะสามารถดึงเอาพลังงานเพื่อขับเคลื่อนให้ทะลุขอบเขต 400 กิโลเมตรต่อขั่วโมงโดยปราศจากมลภาวะ

ค่ายมิตซูบิชิ นำเสนอเอ็มเอ็มอาร์ 25 (MMR25) สุดยอดรถแข่งทุกสภาพพื้นผิวที่มีระบบขับเคลื่อนที่น่าตื่นตะลึง ด้วยระบบล้อแบบ เคลื่อนที่ทุกทิศทาง (Omnidirectional) ที่ล้อทั้งสี่ แต่ละล้อประกอบด้วย ล้อทรงกระบอกพร้อมมอเตอร์อิสระ 8 ล้อ หรือเรียกได้ว่าระบบ “8x4”การออกแบบที่แหวกแนวนี้ทำให้ทุกพื้นผิวไม่ว่าจะเป็น ทราย หิมะ หรือการดริฟท์จะกลายการแข่งแรลลี่สุดหฤโหดกลายเป็นเหมือนเดินเล่นในสนามหลังบ้านทันที

ค่ายรถหรูอย่าง เมอร์เซดีสเบนซ์ ท้าทายความคิดด้วยการผสานแนวคิดลู่แข่งแบบรถไฟเหาะตีลังกาที่โปร่งใสราวกับรถวิ่งอยู่กลางอากาศ เข้ากับระบบไฟฟ้าและ การเล่นลมของเรือใบ ด้วยแนวคิด ฟอร์มูล่า ซีโร่ (Formula Zero) ด้วยแนวคิดนี้ นักขับของรถแต่ละคันจะต้องพยายามวิ่งให้ได้เร็วที่สุดและใช้พลังงานให้น้อยที่สุดด้วย

ค่ายโตโยต้า กับแนวคิดรถแข่ง 24 ชั่วโมงพลังไฮโดรเจน โตโยต้า เลอมัง เรซเซอร์ (Toyota LeMan Racer)ที่ดูคล้ายคลึงกับเครื่องบินรถแบบ เอฟ-14 ทอมแคท (F-14 Tomcat) ที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงของรถให้เข้ากับรูปแบบสนามโดยเมื่อต้องการทำความเร็วสูงสุดจะบีบลำตัวให้แคบเพื่อลดแรงต้านอากาศ และเมื่อเวลาเข้าโค้งรถก็จะขยายออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน ผสานเข้ากับแนวคิดหุ่นยนต์ผู้ช่วย คล้ายกับหุ่น อาร์ทูดีทู (R2D2) จากสตาร์วอร์ ที่จะคอยช่วยดูแลระบบต่างๆของรถ เพื่อให้นักขับไม่ต้องพะวงและกดกันมิดตลอดเส้นทาง

ปิดท้ายด้วยแนวคิดจากค่าย โฟล์คสวาเกน ด้วยแนวคิด ไบโอรันเนอร์ (Bio Runner) รถแข่งน้ำหนักเบาเพื่อเข้าแข่งขันตะลุยทะเลทรายในรายการ บาฮา 1000 ( Baja1000) ตัวรถเองเป็นมอเตอร์ไซค์ขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยเครื่องยนต์กังหันเทอร์ไบน์ ที่บริโภคเชื้อเพลิงได้สารพัดชนิด นอกจากนี้ ไบโอรันเนอร์ ยังมาพร้อมกับ หุ่นเฮลิคอปเตอร์จิ๋ว ที่หร้อมบินขึ้นไปถ่ายทอดภาพจากบนอากาศ ในกรณีที่เส้นทางมีทัศนวิสัยจำกัดอีกด้วย

เรียกได้ว่าไอเดียบรรเจิดจากทีมนักออกแบบฝีมือเยี่ยมของค่ายรถยนต์ทั้ง 9 น่าจะทำให้เราเห็นได้ว่า อนาคตของโลกสีเขียวนี้ไม่มีจืดชืดแน่นอนครับ อ่านตรงนี้ไม่จุใจ ไปชมภาพสวยๆของรถแต่ละคันได้ที่ http://www.carbodydesign.com/tag/la-design-challenge-2008/ พบกันใหม่ในอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน กับจับตามองรถยนต์แนวคิด อีกนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: