วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

คิดนอก "กล่อง"





หากเป็นสมัยก่อน การขับรถรูปร่างเหมือนกล่องคงเป็นสิ่งที่เพื่อนๆคงจะล้อให้ได้เขินกันไปนาน แต่ปัจจุบันโลกของ “กล่อง” ไม่เหมือนเดิมอีกแล้วด้วยการกำเนิดขึ้นของ นิสสัน คิวบ์ รุ่นที่สองในปี 2002 ภายใต้วิสัยทัศน์ของนาย คาร์ลอส กอส์น บิ้กแดดดี้ชาวยุโรปผู้คุมบังเหียนนิสสันให้ก้าวผ่านจุดล้มละลายด้วยการชูประเด็นเรื่อง การออกแบบให้เป็นหัวหอกในการต่อสู้ นิสสัน คิวบ์ รุ่นปี 2002 นั้นถือได้ว่า เปลี่ยนโลกทัศน์ของรถยนต์ราคาประหยัดไปโดยสิ้นเชิง ด้วยจุดเด่นนานัปการ แต่ที่ชัดเจนและโดดเด่นก็คือ การออกแบบที่เป็นแนวไม่สมมาตร หรือพูดกับแบบบ้านๆก็คือ ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หน้าตาไม่เหมือนกันนั่นเอง

สำหรับ คิวบ์ รุ่นที่สาม ปี2009 นี้ยังถ่ายทอดดีเอ็นเอของรุ่นที่สองอันโด่งดังมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ปรับพื้นผิวต่างๆให้ดูนุ่มขึ้นอย่างชัดเจน และยังใส่ความฮิพแบบวัยรุ่นเข้าไปอีก แต่ก็ยังคงเก็บคาร์แรคเตอร์เด่นๆอย่าง การออกแบบเชิงไม่สมมาตรไว้เช่นเดิม ทั้งนี้การออกแบบเชิงนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความขี้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่นักออกแบบเห็นถึงการใช้สอยและทัศนวิสัยการมองของผู้ขับขี่เป็นสำคัญจึงได้ออกแบบให้ฝั่งที่ตรงกันข้ามกับฝั่งคนขับมีช่องหน้าต่างบริเวณเสาซี (C-Pillar) เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มมุมมองด้านหลัง และในส่วนตรงกันข้ามเป็นด้านที่ผู้ขับขี่มองไม่เห็น ก็ได้ปรับให้เป็นที่เก็บของกระจุกระจิกแทน แนวคิดดังกล่าวนี้จึงทำให้แผงกระจกด้านตรงข้ามกับผู้ขับขี่ลากยาวโอบล้อมไปจรดท้ายรถ แต่ในด้านของผู้ขับขี่นั้นจบลงเพียงแค่ตำแหน่งประตูหลังเท่านั้น ทำให้ได้ทั้งเท่ห์และการใช้งานก็ยอดเยี่ยมอีกด้วย

การออกแบบภายในก็นับว่าเป็นจุดเด่นอีกประการที่เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างดี ด้วยรูปทรงกล่องที่มีส่วนสูงมากกว่ารถเก๋งทั่วๆไปทำให้ห้องโดยสารของคิวบ์นั้น โอ่โถงมากๆ พาเพื่อนๆไปเที่ยวเฮฮาปาร์ตี้ได้สนุก และตำแหน่งขับขี่ที่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไปทำให้ การขับขี่ในการจราจรที่คับคั่งในเมืองเป็นเรื่องที่ไม่อึดอัด (แต่เพราะความสวยของรถอาจทำให้ผู้ขับขี่ตกเป็นเป้าสายตาจนอาจอึดอัดได้)

นอกจากเรื่องของรูปทรงและหน้าตากวนๆที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว คิวบ์คันที่เราทดสอบนั้นยังมาพร้อมรายละเอียดทางการออกแบบที่เรียกได้ว่า “คิด” แบบไม่ติดกรอบจริงๆ อาทิ แผงกันแดดที่ยืดเพิ่มความยาวได้กรณีที่พระอาทิตย์แยงตาตอนเย็นๆ หรือแผงซันรูฟที่มีแผ่นกรองแสงใส่เพิ่มมาด้วย ให้แสงสว่างนวลตาแต่ผิวหนังไม่เกรียมเป็นไก่ย่าง และลูกเล่นอีกอย่างที่ฟังดูอาจไร้สาระแต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุก ก็คือการใส่แสงสร้างบรรยากาศยามคำคืนหรือแอมเบี๊ยนไลท์ (Ambient Light) เข้ามาในห้องโดยสาร แต่ครั้งจะใส่แสงแบบเดิมๆอย่างที่ มินิคูเปอร์ มีใช้อยู่ซึ่งแม้จะสามารถเปลี่ยนสีไล่จากน้ำเงินไปจนถึงชมพูมันก็ดูจะไม่มีจินตนาการของความสนุกพอ คิวบ์ก็เลยจัดไฟกระพริบหลากสีใส่ให้บริเวณตำแหน่งที่วางเท้าราวกับแสงสีบนเวทีดิสโก้ ทีนี้การเดินทางของคุณจะไม่มีคำว่าธรรมดาๆอีกต่อไปอย่างแน่นอน แต่จะเป็นการเดินทางที่มีสีสันและความสนุกคู่ไปคุณเสมอ

สรุปง่ายๆก็คือ นี่แหละรถสำหรับคนเมือง หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่คิดนอก “กล่อง” ตัวจริง

ไม่มีความคิดเห็น: