วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

Mitsubishi Triton ดีไซน์แหวกแนว แถมความคุ้ม


**จากคอลัมน์ป้ายแดง ชวนขับ อาทิตย์ที่ 4 ตุลา 2009 **

ในมุมมองด้านการออกแบบ ผมมีความเชื่อมั่นอยู่ประการหนึ่งว่าผู้ที่ซื้อรถไทรทันรุ่น พลัส มีมุมมองการใช้งานแตกต่างไปจากกลุ่มลูกค้าแบรนด์อื่นพอสมควร เพราะไม่ว่าวัดกันมุมใดก็ตามรถรุ่นนี้ดูจะสามารถเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้งานในรูปแบบ “ยานยนต์เอนกประสงค์ของคนรุ่นใหม่” เริ่มต้นด้วยรูปลักษณ์ที่ปฏิวัติการออกแบบไปจากคู่แข่งอย่างหน้ามือหลังมือ ไทรทันให้มุมมองของรถยนต์ที่โฉบเฉี่ยว เฉียบคม แบบรถสปอร์ตทั้งภายนอกและภายใน สอดคล้องกับชีวิตและกิจกรรมกลางแจ้งที่โลดโผน (แต่ไม่โจนทะยานนัก เพราะไม่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ) อาทิ แค้มพ์พิ้ง เจ็ทสกี โมโตครอส จักรยานเสือภูเขา ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งให้ภาพลักษณ์การขับรถรุ่นนี้ก็ดูแตกต่างจากภาพของรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่นิยมการใช้เส้นเหลี่ยมแข็ง บึกบึน เหมือนคนเล่นกล้ามอยู่มาก

อีกส่วนที่มีผลมากต่อการตัดสินซื้อของผู้บริโภครุ่นใหม่ก็เห็นจะหนีไม่พ้น “การออกแบบภายใน และอุปกรณ์ด้านความบันเทิง” จุดนี้ไทรทันทำคะแนนได้สวยเนื่องจากมาพร้อมจอภาพแอลซีดี และเครื่องเล่นดีวีดี สำหรับดูหนังฟังเพลงให้ความบันเทิงสำหรับทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าโดนใจคนรุ่นใหม่กันไป จะขาดอยู่ก็แต่ระบบนำทางด้วยดาวเทียม หรือไม่ก็อ้อฟชั่นที่ถูกใจวัยมันส์ของวันนี้อาทิ วิทยุแบบที่ควบคุมเครื่อง “ไอพอด หรือ ไอโฟน” ได้ ซึ่งถ้าแถมมาให้ด้วยรับรองว่า “จี้ด” กว่านี้อีกเยอะ

การเปลี่ยนแปลงต่างๆส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพราะทรงรถเดิมนั้น “หล่อ” พอตัวอยู่แล้ว หลักๆก็เห็นจะเป็นกระบะท้ายที่ปลายไม่ “ลาด” ลงเหมือนรุ่นดั่งเดิม ทำให้รถดูขึงขังขึ้นพอควร กระจังหน้าใหม่ลายรังผึ้งที่มาพร้อมกับกันชนทรงสปอร์ต ให้ความรู้สึกดุดันเฉียบคมกว่ารุ่นเดิมมาก ส่วนด้านภายในนั้น มิตซูบิชิ ไทรทันคันที่ทดสอบมาพร้อมเบาะผ้าลายใหม่ ซึ่งดูดีพอสมควร ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะลายจุดที่ใช้น่าจะช่วยอำพรางคราบเลอะได้ แต่ตรงจุดนี้ในเมื่อถูกออกแบบให้เป็นรถกิจกรรมเอนกประสงค์ก็น่าจะมาพร้อมกับเบาะที่ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่กลัวเลอะมากกว่าเบาะผ้า ส่วนด้านงานพลาสติกที่ใช้ในมุมมองส่วนตัวผมยังคิดว่าดู “แข็งกระด้าง” ไปบ้างซึ่งหากปรับปรุงจุดนี้ได้จะทำคะแนนได้ดีกว่านี้มาก อีกหนึ่งการปรับปรุงที่น่ายินดีก็คือ การเลิกใช้หน้าปัดสีฟ้า หันกลับมาใช้หน้าปีดสีดำแบบธรรมดา แม้ว่าจะดูสปอร์ตน้อยลงแต่ทัศนวิสัยดีขึ้นและบุคลิกโดยรวมดูมีคลาสขึ้น เรียกได้ว่าตัดสินใจไม่ผิด ส่วนล้ออัลลอยด์ลายใหม่นั้นว่ากันตามตรงก็ยังไม่รู้สึกว่าใหม่แต่อย่างใด น่าจะปรับให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดตามสมัยนิยมน่าจะดูดีไม่น้อย

สรุปในด้านการออกแบบ ไทรทัน ยังคงเป็นรถที่ดูสปอร์ต และน่าจะโดนใจ “หนุ่มสาวรุ่นใหม่” ที่มองหารถเพื่อกิจกรรมเอนกประสงค์ ที่เน้นให้หล่อทั้งในเมือง และลุยได้พอสมควรเมื่อต้องการ ด้วยค่าตัว และค่าบำรุงรักษาและการบริโภคเชื้อเพลิงที่เบากว่ารถเอสยูวีรุ่นต่างๆอยู่เยอะ ทำให้การเป็นตัวเลือกครั้งนี้ดูจะไม่เลวทีเดียว ติดอยู่ก็แต่การทำการตลาดและการสื่อสารไปสู่ผู้บริโภคภายใต้กระแสเชี่ยวกรากของการโหมรุกของสองค่ายใหญ่นั้นหินจริงๆครับ

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

อนาคตเพชรยอดมงกุฏเม็ดใหม่ของบีเอ็มดับเบิ้ลยู!






หากจะกล่าวถึงซีรี่ย์และรุ่นรถต่างๆของค่ายบีเอ็มดับเบิ้ลยูในปัจจุบัน พบว่ามีความหลากหลายและตอบโจทย์สำหรับตลาดรถระดับพรีเมี่ยมได้เกือบจะครบทุกเซ็คเม้นท์ (Segment) ของตลาด โดยเริ่มตั้งแต่รุ่นจิ๋วอย่าง มินิ คูเปอร์ ไปจนถึงรุ่นซีดานรุ่นสุดหรู 6 ดาว (ขอยืมดาวของคุณ อ้วนซ่ามาใช้ซักหน่อย) อย่าง โรลส์รอยซ์ แฟนธอม เรียกได้ว่าค่ายบีเอ็มดับเบิ้ลยูมีทุกสิ่งให้เลือกสรรค์

อ่ะ! ช้าก่อน ที่ว่าครบน่ะจริงหรือ? ใช่ครับหากท่านเป็นแฟนพันธ์แท้รถหรู ท่านจะตอบได้ทันทีว่า บีเอ็มดับเบิ้ลยู ไม่มีรถซุปเปอร์คาร์ ไว้เทียบรุ่นกับค่ายอื่นๆเขาครับ โดยซุปเปอร์คาร์คันสุดท้ายของบีเอ็มดับเบิ้ลยูก็คือรุ่น เอ็มวัน (M1) ซึ่งเลิกทำรถแบบนี้ไปนานกว่า 30 ปี ส่วนที่เหลือก็เป็นรถยนต์ตระกูล เอ็ม ต่างๆของบีเอ็มดับเบิ้ลยูที่นำเอารถเก๋งรุ่นต่างๆมาปรับปรุงจนมีสมถรรนะสูงล้ำขั้นเทพ แต่แม้จะเจ๋งในแง่การขับขี่แต่รถรุ่น เอ็ม ก็ยังขาด อิมเมจ ของซุปเปอร์คาร์แท้ๆ ทำให้บีเอ็มดับเบิ้ลยูต้องนั่งคิดเรื่องนี้อยู่นานสองนาน ถึงการหวนกลับมาสร้างซุปเปอร์คาร์เพื่อเสริมบารมีในฐานะเพชรยอดมงกุฏของบริษัท

หากท่านยังจำภาพของเจ้าปีศาจสีส้ม เอ็มวัน โฮมเมจ (M1 Homage) ที่แอบจอดหลบมุมอยู่ในบูธของบีเอ็มดับเบิ้ลยูในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาได้ นั่นก็เป็นภาพแรกของซุปเปอร์คาร์จากค่ายใบพัดฟ้าขาว ซึ่งการพบกันครั้งแรกพบว่ารถคันนั้นมีบุคลิกภาพหน้าตา โหด หล่อ เท่ห์สมกับเป็นซุปเปอร์คาร์ทุกประการ จะติดอยู่ตรงที่รายละเอียดของเส้นสายที่ “เว่อร์” หรือที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า “ดรามาติค” (Dramatic) แบบรถโชว์ไปนิด แต่ภายในปีเดียว บีเอ็มดับเบิ้ลยูก็ได้ออกเวอร์ชั่นยั่วน้ำลายออกมาให้เราได้ชม ภายใต้ชื่อ “วิชั่น เอฟฟิเชียนท์ไดนามิค คอนเซ็ปท์” (Vision EfficientDynamics Concept)

ความเว่อร์ของรายละเอียดในรถต้นแบบคันล่าสุดนี้ทำให้รุ่น เอ็มวัน โฮมเมจ ดูพับเพียบเรียบร้อยไปถนัดตา แถมยังเพียบด้วยรายละเอียดหวือหวาแบบรถโชว์ที่หากอ่านในรายละเอียดที่ทางบีเอ็มดับเบิ้ลยูจัดให้เรียกได้ว่าเยอะจัด อ่านกันมึน ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาอากาศพลศาสตร์มาใช้แบบถึงกึ๋น โดยรถคันนี้มีค่าต้านอากาศต่ำสุดๆเพียง 0.22 เท่านั้น หรือ จะเป็นเทคนิคการประกอบแบบใหม่ รวมไปถึงเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบดีเซลไฮบริดพลังสูงที่ทำได้ทั้งแรงสุดๆ หรือจะประหยัดสุดๆก็ย่อมได้ (แต่ไม่ได้ทำได้พร้อมๆกันนะครับ) แถมด้วยของแปลกก็คือแม็ก 21 นิ้วที่จับคู่กับยางหน้าแคบพิเศษเพื่อลดแรงเสียดทาน แต่หากมองให้ลึกๆเราสามารถจะพบภาพของอนาคตของซุปเปอร์คาร์แนวคิดใหม่จากบีเอ็มดับเบิ้ลยูที่สืบทอดมาจาก เอ็มวัน โฮมเมจได้กระจ่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่สิ่งที่สามารถที่จะเป็นจริงได้!

ภาพรวมก็คือ ซุปเปอร์คาร์เครื่องวางกลางลำขนาดสูสีกับ แลมโบกีนี่ เมอร์เซียลลาโก ที่เชื่อได้ว่า หากลองลบรายละเอียดหวือหวารุงรังออกไป นี่ก็คือ ซุปเปอร์คาร์ที่มีสัดส่วนสวยงามลงตัวที่สุดคันหนึ่ง เริ่มที่ใบหน้าอันหล่อเหลาคมคาย ไปจนถึงเอาท์ไลน์ด้านข้าง และรูปทรงของไฟท้ายรวมไปถึงรายละเอียดทางอากาศพลศาสตร์บางส่วน ที่เชื่อได้ว่าใกล้เคียงกับรถโปรดักชั่นมาก แถมด้วยทีเด็ดการเป็นรถสี่ที่นั่ง! ซึ่งไม่มีใครเหมือน (ในอดีตเคยมีรถแบบนี้เช่นกัน คือเฟอร์รารี่ มองดิอัล(Ferrari Mondial))

การกลับมาของซุปเปอร์คาร์จาก บีเอ็ทดับเบิ้ลยู ไม่ได้มาแบบธรรมดาๆ แต่อัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนอาจจะเรียกได้ว่านี่อาจจะเป็นเซ็กเม้นท์ใหม่ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์กรันตูริสโม” (Super Gran Turismo) หรือลูกผสมระหว่างรถจีที กับซุปเปอร์คาร์เครื่องกลางลำ ผมแทบจะรอวันที่ บีเอ็มดับเบิ้ลยู วิชั่น เอฟฟิเชียนท์ไดนามิค คอนเซ็ปท์ ลอกคราบของคอนเซ็ปท์คาร์ ออกจนกลายเป็นรถยนต์จริงๆไม่ไหว เพราะการกลับมาหลังจาก 30 ปีของตำนานอย่าง เอ็มวัน นั้นมันต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆสำหรับ บีเอ็มดับเบิ้ลยูแน่นอนครับ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

บูกัตติ กัลลิบิเยร์ 16 ซี เก๋งระดับ 7 ดาว!





หากจะกล่าวถึงเก๋งหรูระดับ 5 ดาว ชื่ออย่าง เล็กซัส, แจกกวาร์, บีเอ็มดับเบิ้ลยู, หรือ เมอร์ซีดีส เบนซ์ นั้นคงจะคุ้นหน้าคุ้นตาด้วยมาตรฐานความหรูหราและสมรรถนะที่เหล่าผู้บริหารต่างให้การยอมรับ แต่สำหรับในโลกนี้ที่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือก้อนเมฆยังมีเครื่องบินแล้ว ยังมีผู้ที่แสวงหาความเป็นที่สุดที่ไม่สบอารมณ์ที่พบว่ามี รถเบนซ์เอสคลาสป้ายแดงจอดกันให้พรึ่บในลานจอดของสยามพารากอน นั่นก็เป็นที่มาของแบรนด์ระดับอัครยานยนต์อย่าง เบนท์ลีย์ มุลซานเน่ (Bentley Mulsanne), โรลส์รอยซ์ แฟนทอม (Rolls Royce Phantom) หรือหากชอบแนวสปอร์ตขับมันส์ ก็ยังรถอย่าง แอสตันมาร์ติน ราพีเด ( Aston Martin Rapide), พอร์ช พานาเมร่า (Porsche Panamera) และ มาเซอราตี ควอทโตรปอร์เต้ (Maserati Quatroporte) ที่ออกผลิตภัณฑ์ออกมาเติมเต็มความฝันของเหล่า เทพ กัน เพราะทั้งสมรรถนะและราคาแต่ละคันนั้นเรียกได้ว่า สูงล้ำดั้นเมฆระดับ 6 ดาว! เพราะสำหรับรถเหล่านี้บางคันต้องถึงกับเรียกว่าในล้านคน อาจมีได้แค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นเจ้าของได้!!!

แต่ช้าก่อน! ยังมีคนที่ไม่อยากจะเป็นคนที่เราอยากจะเรียกว่า หนึ่งในล้าน เพราะท่านลองคิดดูดีๆ ถ้าเป็นหนึ่งในล้านคน ก็แสดงว่าในประเทศขวานทองของเรานี้ก็ต้องมีคนระดับเดียวกันถึง 70 คนเชียวหรือ!!! การขับของโหล ( 70 คันมันเกือบ 6 โหลเชียวนะท่าน) มันย่อมไม่สบอารมณ์อภิโคตรมหาเศรษฐีเท่าไรนัก ดังนั้นก็เลยมีบางแบรนด์ที่ออกมาสนอง อีโก้ ของท่านเหล่านั้นด้วยการออกผลิตภัณฑ์ระดับ 7 ดาว ที่อยากจะแนะนำให้ท่านได้รู้จักกันในวันนี้ก็รถยนต์ที่ฉลองครบรอบ 100 ปี ของบูกัตติ บูกัตติ กัลลิบิเยร์16 ซี นั่นเอง รถยนต์ที่ผมไม่กล้าจะถามราคา

ชื่อที่แสนออกเสียงยากของมันนั้นมาจากชื่อของช่วงที่แสนท้าทายของการแข่งขันจักรยาน ตูร์ เดอ ฟร์องซ์ (Tour De France) รูปลักษณ์ของ กัลลิบิเยร์16 ซีนั้นสืบทอดทรงของรุ่น ไทพ์ 57 แอตแลนติค (Type 57 Atlantic) จากยุค 1930 ที่เป็นทรงหน้ายาว ท้ายลาดมน และโดดเด่นด้วยตัวถังสองสี ซึ่งในรุ่นกัลลิบิเยร์16 ซี สีเงินนั้นมาจากอลูมิเนียมขัดมันจนเงาเหมือนกระจก ส่วนพื้นที่สีน้ำเงินนั้นไม่มีการรองพื้นเหมือนรถทั่วๆไป แต่เป็นพื้นสีน้ำเงินที่ใสจนมองเห็นลวดลายคาร์บอนด์ไฟเบอร์ที่สานอย่างงดงาม เรียกได้ว่าอวดงานฝีมือสุดเนี้ยบอย่างเต็มที่ (การนำรถคันนี้ไปจอดห้างไหนคงต้องจ้างยามมาเฝ้าไม่ให้ใครเดินเฉียด และการล้างรถคงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสไม่ใช่เล่นๆ เพราะขนแมวดูจะมาเยือนได้ไม่ยากเลย)

การเป็นรถยนต์ระดับ 7 ดาวแน่นอนสมถรรนะต้องสุดๆ เพราะชื่อ 16ซี นั้นมาจากจำนวนกระบอกสูบ 16 สูบของมัน แต่การเป็นเป็นรถระดับ 7 ดาวก็ใช่ว่าจะไม่เหลียวแลเรื่องสภาพแวดล้อม เพราะบูกัตติแจ้งว่ารถคันนี้สามารถบริโภคเอทธานอลได้ด้วยขอรับ (อาจจะไม่ได้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เอทธานอลล้วนๆมันแรงแซ่บอีหลีแท้ๆ) การออกแบบภายในก็นับว่าหรูเริ่ดล้ำด้วยการออกแบบที่เรียบง่ายและสง่างาม ตัดรายละเอียดวุ่นวายออกจนราวกับเป็นห้องนั่งเล่นที่บุด้วยหนังจากกระเป๋าแอร์เมส ส่วนท่านที่ไม่อยากจะแยกจากรถคันงามของท่าน ไม่ต้องกลัวครับ เพราะบูกัตติเค้าร่วมกับ แบรนด์หรูอย่าง พาร์มิจิอานี (Parmigiani) ทำหน้านาฬิกาฝังหน้าปัดรถที่สามารถถอดออกมาใส่เป็นนาฬิกาข้อมือได้ด้วย และที่สำคัญนาฬิการุ่นนี้มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้เพราะต้องซื้อรถก่อนนะขอรับถึงจะมีได้ ถ้าเจอใครใส่นาฬิการุ่นนี้มาก็รู้ได้เลยนะครับว่าเขาคนนั้นน่ะ หนึ่งในสิบล้านครับ

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

โอ้วววววววว บทความปีกว่าๆ เยอะขนาดนี้เชียว

กว่าจะ upload หมดเล่นเอาเมื่อย รู้งี้ทำมาตั้งนานแล้ว
อ่านๆไปก็เหมือนเข้า time machine เพราะหลายๆเรื่องก็มองผิดไปเยอะเหมือนกันนะเนี่ยเรา

ติดตามอ่านตอนใหม่ๆได้ทาง เดลินิวส์ ทุกวันอาทิตย์นะครับ

ฉลามบุก!


สวัสดีวันอาทิตย์กับท่านผู้อ่านที่รักอีกครั้ง และขอแสดงความยินดีกับแฟนๆของค่ายมิตซูบิชิที่การรอคอยอันแสนยาวนานนั้นได้สิ้นสุดกันเสียทีกับการมาถึงของเจ้าฉลาม นิวแลนเซอร์ อีเอ็กษ์ (Lancer EX) ในวันที่ 15 กันยายนนี้

แม้ว่าจะออกมาวาดลวดลายในเวทีโลกมากว่าสองปีแล้วในฐานะผู้สืบทอดสายพันธ์รุ่นที่ 8 นับตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมาซึ่งนับเวลาที่เรารู้จักชื่อนี้มาก็นับได้กว่า 36 ปี ถ้าเป็นคนก็นับได้ว่าเป็นหนุ่มใหญ่มากประสบการณ์คนหนึ่งแล้วทีเดียว และหากจะว่าไปแลนเซอร์รุ่นที่ 8 นี้ก็เป็นหนึ่งในแลนเซอร์ที่ดูแจ่มแจ๋วที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ว่าได้ ด้วยรูปลักษณ์ที่ฉีกแนวรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าทั่วๆไป ที่นิยมแนวการออกแบบที่เรียกว่า “แค้บฟอร์เวิร์ด” (Cab Forward) ที่มีฝากระโปรงหน้าสั้นๆและห้องโดยสารยาวๆ ไปสู่การออกแบบที่ดูเผินๆ(ถ้าไม่ติดตรงโอเวอร์แฮงค์หน้าที่ยาว) ราวกับเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังเสียด้วยซ้ำไปเพราะแลนเซอร์ใหม่นี้มีฝากระโปรงหน้าที่ยาวดูดุดันได้ใจ สมกับฉายาที่คนรถทั้งหลายเรียกมันว่า “หน้าฉลาม” เป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าท่านที่เคยเป็นแฟนรถยนต์ยี่ห้ออื่นมาตลอด คราวนี้คงต้องหันมาลองรถค่ายมิตซูบิชิดูบ้างแล้ว ส่วนเรื่องเครื่องยนต์แน่นอนว่าถ้ารูปลักษณ์ดูเปรี้ยวขนาดนี้คงไม่ให้เครื่องยนต์ “ติ๋มๆ” แน่นอน ดังนั้นแลนเซอร์ใหม่จะมาพร้อมเครื่อง 1.8 และตามด้วย 2.0 รับประกันว่า ไม่สวยแต่รูปจูบไม่หอมแน่ๆ พร้อมซะขนาดนี้ อัวนซ่า ขอฟันธงว่าได้เห็นปรากฏการณ์ยอดจอดถล่มทลายแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ มาสด้า 3 และซีวิค เอฟดี หวนมาหาค่ายมิตซูบิชิอีกครั้งหลังจากที่ไม่มีอะไรตื่นเต้นมานาน เอาใจช่วยนะครับ

เรื่องสนนราคานั้นยังอุปเงียบ แต่มิตซูบิชิยังมีทีเด็ด ด้วยการอุดช่องว่างรถยนต์ขนาดเล็กที่ตัวเองไม่มีมาเปรียบมวยกับ รถอย่าง ฮอนด้า ซิตี้ หรือโตโยต้า วิออส ด้วยการนำเอาแลนเซอร์ หรือเจ้า ซีเดีย โฉมที่แล้วมาปรับราคาขายกันใหม่ เรียกได้ว่างานนี้ชนกับรถเล็กๆจากสองค่ายดังอย่างจัง ด้วยหมัดเด็ดของมิตซูบิชิคือ ราคาเบาๆ กับ ขนาดตัวที่ใหญ่กว่าเห็นๆ พร้อมกับความประหยัดแบบสุดๆ จากการใช้ เครื่อง 1.6 ที่บริโภคน้ำมัน E20 ร่วมกับระบบแก๊ส ซีเอ็นจี เรียกได้ว่าใครอยากได้ของดีราคาถูกเชิญทางนี้ได้เลยเพราะงานนี้ เขาขายกันที่ 5.9-6.8แสนเท่านั้น ถ้าไม่กังวลว่าจะต้องใช้รถโฉมล่าสุด การเลือกมิตซูบิชิ แลนเซอร์ 1.6 ซีเอ็นจี นับว่า คุ้มสุดจะคุ้ม เพราะห้องโดยสารนั้นโออ่ากว่า นั่งสบายกว่ารถเล็กของอีกสองค่ายอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าหน่วยงานใดต้องการได้รถมาใช้งานเป็นรถประจำองค์กร หรือใช้เป็นรถครอบครัว ตัวเลือกนี้รับรองไม่มีผิดหวัง คอนเฟิร์ม!

แนวรุกใหม่จากมิตซูบิชิ คราวนี้เฉียบคมยิ่ง เพราะบุกครั้งเดียวเล่นถึงสองตลาด และต้นทุนการแข่งขันก็ยังต่ำเสียด้วย เจ้ายุทธภูมิเดิมเห็นทีจะหายใจไม่คล่องคอเป็นแน่ งานนี้สนุกครับมิตซูบิชิจะกลับมาผงาดอีกครั้งได้หรือไม่ศึกครั้งนี้ชี้ชะตาครับ

แสงสว่าง(ลิบๆ)ที่ปลายอุโมงค์



สวัสดีวันอาทิตย์กับเรื่องราวสาระยานยนต์ไปกับผม อ้วนซ่า แอบซิ่ง อีกครั้งนะขอรับ ทุกวันนี้แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะเป็นอย่างไรแต่ก็ดูเหมือนพี่น้องชาวไทยก็ “ชาชิน” กับน้ำมันราคาแพงกันถ้วนหน้า ราคาน้ำมันในบ้านเราที่แม้ว่าจะเทียบกับประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันก็ไม่ได้สูงกว่าเรียกได้ว่า สูสีกับอเมริกา แถมหากอุตริไปเทียบกับแถวยุโรปที่แพงกว่าบ้านเราเป็นเท่าตัวด้วยแล้วก็ยังต้องบอกว่าราคาบ้านเราไม่แพง แต่หากมองกันตามจริงรายได้ของคนในบ้านเรา “ต่ำ” กว่ายุโรป หรืออเมริกาอย่างไม่รู้จะเทียบกันได้อย่างไรก็เลยเป็นที่น่าสงสัยว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน

ดังนั้นการหาพลังงานทางเลือกก็ดูจะเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นตราบใดที่เรายังคงต้องเดินทางไปไหนมาไหนไกลกว่าเท้าเดิน หรือปั่นจักรยาน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์เจ้าไหนไวกว่าก็ดูเหมือนจะฉกชิงความได้เปรียบตรงนี้ไว้ได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ไฮบริด ลูกผสมน้ำมันกับไฟฟ้า ซึ่งค่าย โตโยต้าเป็นผู้นำร่องในประเทศไทยในขณะนี้ หรือจะเป็นกลุ่มที่เน้นความประหยัดจากการใช้แก๊สซีเอ็นจี หรือที่รู้จักกันดีชื่อ เอ็นจีวี ซึ่งดูจะมีให้เลือกพอสมควรเริ่มตั้งแต่รถหรูอย่าง เมอร์เซเดส เบนซ์ อีคลาส เอ็นจีที, รถครอบครัวอย่าง เชฟโรเล็ท ออปตร้า, มิตซูบิชิ แลนเซอร์, โปรตอน เพอร์โซนา ซึ่งคาดว่าจะมีทยอยกันออกมาอีกรุ่นสองรุ่นในเร็ววัน, รถกระบะที่จริงจังก็เห็นอยู่เจ้าเดียวคือ ทาทา ซีนอน ส่วนค่ายที่ตกลงปลงใจไปกับน้ำมันแบบแก๊สโซฮอล์ E85 หลักๆก็เห็นเพียง วอลโว่ ซึ่งค่าตัวก็นับว่าแพงโข จะซื้อมาเพื่อประหยัดก็ดูพิลึกๆเหมือนเป็นเศรษฐีแต่กลัวค่าน้ำมันดูไม่สมเหตสมผล และท้ายสุดก็คือค่ายที่หันไปจับมือกับเทคโนโลยีเครื่องดีเซล อย่างบีเอ็มดับเบิ้ลยู และฟอร์ด ซึ่งก็ได้รับความสนใจในระดับที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากจะประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องยนต์เบนซินแล้วยังได้พลังกำลังเร่งแซงที่ถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณ กว่ารถเบนซินเดิมๆอีกเยอะ

ในอนาคตอันใกล้ดูเหมือนเราอาจจะมีทางเลือกใหม่ๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่ไม่ง้อน้ำมัน อย่างนิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) ที่มาพร้อมกับระบบไฟฟ้าล้วนๆเต็มระบบ ซึ่งถ้าจะเป็นไปได้ในการทำตลาดก็คงต้องร่วมมือกับภาครัฐในการวางสาธารณูปโภคในเรื่องของสถานีจ่ายไฟฟ้า ซึ่งจะว่าไปก็ง่ายกว่าการทำปั้มแก๊สเอ็นจีวีอยู่โข แต่ก่อนจะนำรถไฟฟ้าอย่าง ลีฟเข้ามา นิสสันขอชิงเปิดตลาดรถแนวประหยัด อีโคคาร์ไปก่อนกับ รถรุ่นมาร์ช (Nissan March) ที่แหล่งข่าวยืนยันแล้วว่า ลุยแน่ๆ ส่วนรายสุดท้ายก็เห็นจะเป็นค่ายมิตซูบิชิก็ได้ฤกษ์พร้อมจะคลอด แลนเซอร์ใหม่กันเสียทีโดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.8 และ 2.0 ลิตร และคราวนี้มาพร้อมกับจุดเด่นที่สามารถเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้ในเครื่องยนต์ขนาด 1.8 เรียกได้ว่า ตอบโจทย์คนรักประหยัดได้ลงตัว เพราะราคารถเองก็น่าจะได้เปรียบกว่าคู่แข่งเนื่องจากแต้มต่อด้านภาษีสรรพสามิต ซึ่งแม้ว่าน้ำมันเองจะมีสมรรถนะด้อยกว่าน้ำมันแก็ซโซฮอล์ อี10 หรืออี20 อยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการอะไรปรู้ดปร้าดก็ดูเป็นทางเลือกที่เหมาะเจาะ

แสงสว่างที่ปลายทางลิบๆ ดูเหมือนจะใกล้เข้ามาทุกที หลังจากที่ต้องคอยลุ้นว่า ไก่กับไข่อะไรมันจะต้องเกิดก่อนกัน ปล่อยให้เราๆท่านๆก็ต้องกล้ำกลืนไปกับเรื่องไก่ๆไข่ๆกันไปเสียนาน

เบนท์ลีย์ มุลซานเน; ศึกชิงเจ้ายุทธภพ



ปัจจุบันนี้หากกล่าวถึงชื่อของ เบนท์ลีย์ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความอลังการที่มาพร้อมกับพละกำลังที่เรียกได้ว่า “เหลือเฟือ” แต่กว่าจะได้มายืนอยู่แถวหน้านั้นเส้นทางชีวิตของ เบนท์ลีย์นั้นเต็มไปด้วยขวากหนามกว่าที่หลายๆคนคิดไว้ จากที่เคยต้องอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่หวามอมขมกลืน ในฐานะ “เงา” ของโรลส์รอยซ์ อยู่นานเกือบ 7 ทศวรรษ แม้ต่อมาในช่วงท้ายๆของความสัมพันธ์กับโรลส์รอยซ์นั้นก็ได้ปรับวิทยฐานะให้สูงขึ้นอีกนิดมาเป็น “ทางเลือกสำหรับเศรษฐีเท้าตะกั่ว” ก่อนที่จะเริ่มความสัมพันธ์ในฐานะเพชรยอดมงกุฏของอาณาจักรโฟลค์สวาเกนในยุคต้นของสหัสวรรษ ที่ซึ่งเอกลักษณ์และบุคลิกภาพของเบนท์ลีย์ได้ถูกกอบกู้ จนพร้อมสำหรับการเข้าชิงตำแหน่ง “ฮ๋องเต้แห่งวงการรถยนต์” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยสุดยอดยนตรกรรมหลากรุ่นอาทิ คอนติเนนตัล จีที (Continental GT) ที่เศรษฐี และเหล่าเซเลบคนดังในอเมริกันต้องมีกันคนละคันราวกับเป็นเครื่องหมายของการยอมรับทางสังคมแบบหนึ่งไปแล้ว

หลังจากที่ได้ออกไปฝึกปรือวิทยายุทธ์มาจนครบเครื่องแล้ว วันเวลาแห่งการเข้าชิงบัลลังก์กับ โรลส์รอยซ์ ของเบนท์ลีย์ก็มาถึงพร้อมกับการเปิดตัว รุ่นเรือธงคันใหม่ถอดด้ามของบริษัทภายใต้ชื่อ “เบนท์ลีย์ มุลซานเน่” (Bentley Mulsanne) อันได้มาจากชื่อของช่วงทางตรง“มุลซานเน่ สเตรท” (Mulsanne Straight) ที่รถแข่งสามารถทำความเร็วได้สูงสุดในสนามแข่งความเร็วอันแสนทรหด “เลอมังส์ 24 ชั่วโมง” (Le Mans 24 hours) ในประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเบนท์ลีย์ในอดีตยุคทศวรรษที่ 30 เคยสร้างปรากฏการณ์เอาชนะรถแข่งฝรั่งเศสอย่าง “บูกัตติ” (Bugatti) แบบ 4 ปีซ้อน ด้วยรถรุ่นซุปเปอร์ชาจน์ ที่ทั้งใหญ่ทั้งหนัก แต่ก็แรงและอึด ทำให้คนฝรั่งเศสตั้งชื่อแบบประชดประชันว่า “รถบรรทุกที่เร็วที่สุดในโลก” ชื่อของเบนท์ลีย์ในฐานะ รถคันโตที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่แรงด้วยระบบอัดอากาศ (ซุปเปอร์ชาจน์ หรือเทอร์โบ) กลายเป็นตำนานคู่กับสนามเลอมังส์ และวงการรถยนต์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

มุลซานเน่ ใหม่นั้น หากจะเปรียบเทียบกับโรลส์รอยซ์ เรียกได้ว่าใช้ตำราการออกแบบคนละเล่มกันเลยทีเดียว ในขณะที่โรลส์รอยซ์ โดดเด่นด้วยรูปทรงหนาหนักกับสัดส่วนที่ใหญ่โตเกินจริงแต่กลับมีรายละเอียดทางการออกแบบที่ เฉียบล้ำยุค เกิดเป็นส่วนผสมที่ไม่เหมือนใครแฝงไว้ด้วยพฤติกรรม “ข่มขวัญ” และ “หยิ่งผยอง”อยู่ในที แต่กับเบนท์ลีย์ มุลซานเน่ นั้นเลือกที่จะเดินในเส้นทางสายคลาสสิค และถ่ายทอดเส้นสายของเบนทลีย์รุ่นดั่งเดิมออกมาอย่างสง่างาม ดูหนาหนักมั่นคง แต่เล่นเหลี่ยมมุมและแสงเงาอย่างชาญฉลาด จนทำให้รถยนต์คันนี้ดูแล้วมีรสนิยมแบบผู้ดีอังกฤษแท้ๆ ที่น่าเกรงขามแต่ไม่หยิ่งผยอง และด้วยข่าววงในที่ว่า มุลซานเน่นั้นจะใช้เครื่องยนต์แบบคลาสสิคแต่ก็ปรับแต่งให้ทันสมัยแบบ V8 ขนาด 6.75 ลิตรพร้อมระบบอัดอากาศด้วยเทอร์โบที่มาพร้อมแรงบิดมหาศาลอันเป็นเอกลักษณ์ ต่างกับเบนท์ลีย์ร่วมสมัยคันอื่นๆที่ใช้เครื่องยนต์ของโฟลค์สวาเกน ทำให้มันเต็มไปด้วยสเน่ห์ของเบนท์ลีย์ “แท้ๆ” อย่างเต็มที่

ปี 2010 คือ ปีที่รถยนต์ เบนท์ลีย์ มุลซานเน่ จะเข้าสู่สนามประลอง จับตาดูให้ดีเพราะทางโรลส์รอยซ์ เองก็ยังมีกระบี่สังหาร อย่างรุ่น 200อีเอ็กซ์ (200EX) หรือที่มีข่าวรั่วมาว่าอาจจะใช้ชื่ออมตะอย่าง โกสต์ (Ghost) หรือ ปีศาจ (หลายๆท่านคงประหลาดใจที่ โรลส์รอยซ์ ชอบใช้ชื่อวิปริตอย่าง ผี วิญญานหรือ ปีศาจ สาเหตุคือเรื่องของแรงบันดาจใจจากความเงียบเชียบราวกับลมหายใจของปีศาจ-ผู้เขียน) รออยู่เช่นกัน หากจะให้ฟันธงว่าผู้ใดจะปราชัย บอกได้คำเดียวว่า ตลาดรถยนต์หรูระดับ 5 ดาวนั้นเป็น “ศึกชิงเจ้ายุทธภพ” ที่จะไม่มีใครยอมใครแน่นอน

แมทช์ล้างตาของม้าลำพอง






ในวงการรถยนต์นั้นจะว่าไปก็มีคู่ชกตลอดกาลอยู่ด้วยกันหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ซีรี่ย์ต่างๆของ บีเอ็มดับเบิ้ลยู กับคลาสต่างๆของเมอร์เซเดสเบนซ์ ที่ต่างก็ออกแบบมาประกบคู่กันเป๊ะๆ รุ่นต่อรุ่น และก็พลัดกันแพ้พลัดกันชนะเรื่อยมา และจะว่าไปในวงการรถสปอร์ตชั้นสูงนั้นเจ้าม้าลำพอง เฟอร์รารี่ ดูจะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากรถสปอร์ตพันธ์ดุเครื่องวางกลางลำแบบแปดสูบอย่างรุ่น F355, F360 แบบไร้คู่แข่ง ที่จะมีมาใกล้ก็คือ กบมหาภัย พอร์ช 911 ซึ่งก็ยังไม่น่าจะนับว่าเป็นคู่กัดโดยตรงเพราะ รูปทรงและภาพลักษณ์ยังห่างกัน แต่หลังจากที่บริษัทเอาดี้ จากเยอรมัน เข้ามาซื้อบริษัทผลิตซุปเปอร์คาร์สัญชาติอิตาเลียน อย่าง แลมโบร์กีนี่ และผลที่ได้จากการสมรสข้ามชาติก็คือ สิ่งที่ทำให้เจ้าตลาดอย่างเฟอร์รารี่ต้องท้องเฟ้อเรอเปรี้ยวมาหลายปีก็คือ การมาถึงของเจ้ากระทิงหนุ่ม กัญญาโด (Lamborghini Gallardo) ด้วยความพร้อมทางด้านการเงินของพ่อชาวเยอรมัน ทำให้กัลญาโด พรั่งพร้อมทั้งด้านรูปลักษณ์ คุณภาพการประกอบ และสมรรถนะระดับสุดๆจากเครื่องยนต์วี 10 พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ นอกจากนั้นยังไม่พอ การสมรสครั้งนี้ยังได้ทายาทที่น่ารักน่าชังที่ทำให้เฟอร์รารี่ต้องนั่งกัดฟันกรอดๆ อีกคันก็คือ เอาดี้ อาร์8 (Audi R8) ที่ถูกอกถูกใจคนที่ชอบรถยนต์สมรรถนะสูง แต่ไม่อยากที่จะละทิ้งความสะดวกสบาย เรียกได้ว่า การสมรสครั้งนี้ทำเอาเฟอร์รารี่ชอกช้ำระกำใจ กระอักเป็นเลือดอยู่ทุกค่ำคืน

แต่ความชอกช้ำนั้นจะกลายเป็นอดีต เพราะเฟอร์รารี่สามารถแก้เกมส์ที่เกิดอาการ ยึกๆยักๆ จึ๊กๆจั๊กๆ” ในตลาดที่เรียกได้ว่า ตัวเลือกเด่นๆเต็มไปหมดได้อยู่หมัดแน่ๆ เพราะ ม้าลำพองหนุ่มนั้น “ครบเครื่อง” ใหม่ถอดด้ามในทุกมิติ ชื่อของมันคือ เฟอร์รารี่ 458 อิตาเลีย (Ferrari 458 Italia) ชื่อ 458 มาจากกระบวนการตั้งชื่อแบบคลาสสิคแบบดั่งเดิมของเฟอร์รารี่นั่นคือ 45 เท่ากับความจุเครื่อง 4.5 ลิตร และ 8 มาจากจำนวนกระบอกสูบ เครื่องยนต์ 8 สูบขนาด 4.5 ลิตรไม่มีเทอร์โบ หรือซุปเปอร์ชาจน์นี้สามารถเบ่งพลังออกมาได้อย่างน่าทึ่งถึง 570 แรงม้า! หรือเท่ากับ 127 แรงม้าต่อลิตร นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งประสานเข้ากับตัวถังลู่ลมแต่สร้างแรงกดสูง และน้ำหนักรถที่เบาเพียง 1.38 ตัน หรือหนึ่งแรงม้าแบกน้ำหนักแค่ 2.4 กิโลเท่านั้น ที่ทำอัตราเร่งได้ดุเดือดระดับ 0-100 กิโลเมตรใน 3.4 วินาที และความเร็วปลายระดับ 325 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การันตีได้ว่า “แซ่บอีหลี” แน่นอน

แนวคิดทางการออกแบบของ 458 นั้นฉีกแบบแผนธรรมเนียมเดิมๆของเฟอร์รารี่แบบแปดสูบเครื่องวางกลางที่ได้รับสืบทอดต่อเนื่องกันมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ 206 และ 264ดิโน (Dino) จนถึงรุ่น 430 ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าดูภาพประกอบก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า พัฒนาการของรูปทรงนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยึดถือเส้นสายคลาสสิคที่ได้รับการออกแบบจากบรมครูด้านการออกแบบรถยนต์ของอิตาลีอย่าง ปินินฟารีนา ที่ได้สร้างสรรค์รูปทรงอมตะอันเน้นความลื่นไหลและนุ่มนวลจากหัวจรดท้าย ให้กับเฟอร์รารี่แบบเครื่องวางกลาง 8 สูบที่เรารู้กันในชื่อของ 308, 328, 348, 355, 360, และ 430 ตลอดมา

แต่ทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนไปในรุ่น 458 อิตาเลีย เพราะเส้นสายที่ไหลต่อเนื่องแบบคลาสสิคและช่องดูดอากาศด้านข้างตัวถังเป็นอดีตไปเสียแล้ว 458 มาพร้อมกับเส้นสายที่แม้จะให้ความรู้สึกโค้งเว้าเซ็กซี่แต่จังหวะจะโคนนั้น ฉับพลัน และก้าวร้าวกว่ามาก ส่วนหนึ่งดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากการออกแบบของ เคน โอกูยามะ นักออกแบบชาวญี่ปุ่นผู้ซึ่งร่ำเรียนด้านการออกแบบมาจากสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นหัวหน้าทีมออกแบบของปินินฟารินาในช่วงปลายยุค 90 ผู้ให้กำเนิดรูปแบบอันน่าตื่นตาตื่นใจของ เฟอร์รารี่ เอ็นโซ่ ไฮเปอร์คาร์ของเฟอร์รารี่ในยุคปัจจุบัน และได้ก่อกำเนิดเส้นสายที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติที่ “กบฐ” ต่อคลาสสิควิถีแบบอิตาเลียนมิใช่น้อย แต่กับ 458 อิตาเลียนี้สำนักปินินฟารีนาได้ตีความกับคำว่า “กบฐ” เสียใหม่ และผลที่ได้ก็คือ ความขัดแย้งที่ลงตัวอย่างถึงกึ๋น และทำให้ 458 อิตาเลีย เป็นหนึ่งในรถยนต์ที่ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ล้วนแต่กระตุ้นอารมณ์ให้อะดรีนาลินกระฉูดได้ไม่ยาก เริ่มตั้งแต่ไฟหน้าซีนอนพร้อมไฟแอลอีดีแนวตั้งที่คมเฉียบและเกรี้ยวกราด เรียกได้ว่าหากพบมันบนกระจกมองหลังของรถคุณก็ควรจะหลีกทางให้เสียจะดีกว่า ปีกเล็กๆด้านกระจังหน้าเป็นเทคนิคการออกแบบที่แหวกแนวที่เฟอร์รารี่เรียกว่า แอโร่อีลาสติก กล่าวคือที่ความเร็วต่ำทำหน้าที่เป็นปีกจัดสรรกระแสลมเข้าสู่ระบบระบายความร้อนอย่างเต็มที่แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงตัวของปีกเองจะหยุ่นตัวและเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายใต้กระแสลม เพื่อลดแรงต้านอากาศโดยไม่ต้องอาศัยกลไลใดๆ นับว่าเป็นแนวคิดทางวิศวกรรมที่สร้างสรรค์ไม่น้อย

เส้นสายด้านข้างนั้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ เคน โอกูยามะอย่างชัดเจน ในเรื่องของการประสานเส้นสายที่ขัดแย้งเข้าด้วยกัน ส่วนช่องดูดอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์นั้นประสานเข้ากับส่วนฐานหลังคาอย่างกลมกลืน หมดยุคของช่องเปิดด้านข้างตัวถัง ในส่วนของด้านท้าย ไฟท้ายกลมใหญ่ดวงเดียวต่อข้างได้เข้ามาแทนที่ไฟกลมคู่อย่างลงตัว เช่นกันกับเฟอร์รารี่ร่วมสมัยอย่าง รุ่น 599 การวางตำแหน่งไฟท้ายให้คาบเกี่ยวอยู่มุมนอกสุดของตัวถังด้านบน ช่วยขยายให้บั้นท้ายของมันดูกว้างและอลังการ ในส่วนท่อไอเสียเองก็นับได้ว่าเป็นเซอร์ไพรซ์ เพราะนี่คือเฟอร์รารี่คันแรกที่ใช้ท่อไอเสีย 3 ปลายเป็นคันแรกนับตั้งแต่ รุ่น F40 จากปลายต้นยุค 90

ส่วนภายในห้องโดยสารนั้นอันแสนจะหวือหวานั้นได้รับการพัฒนาโดยอาศัยข้อมูลจากนักแข่งระดับตำนาน มิคาเอล ชูมัคเกอร์ ทำให้เชื่อได้ว่าการวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบและเหมาะกับการขับขี่ที่ความเร็วสูงเป็นอย่างยิ่ง

สรุปว่า สปอร์ต รุ่นแรกเข้าของเฟอร์รารี่ตอนนี้มีด้วยกัน 2 รุ่น ต่างสไตล์ คือเจ้าตัวจี้ด 458 อิตาเลีย และครุซเซอร์ เปิดประทุน เฟอร์รารี่ คาร์ลิฟอร์เนีย เรียกได้ว่าพร้อมทั้งคนที่ต้องการจะขับแบบชิลล์ๆแต่ หากอยากจะมันส์ก็ทำได้แจ๋วหรือ ขับแบบดุดันไม่ประนีประนอม เฟอร์รารี่มีให้หมด งานนี้แหละคดีพลิก! เพราะงานนี้เค้ากลับมาทวงบัลลังก์และถ้าปล่อยให้หลุดไปแล้ว อาจจะไม่ได้คืนมาแล้วนะขอรับ และเชื่อได้ว่เจ้าม้าลำพองตัวใหม่นี้จะเป็นที่หนึ่งในยุทธภพนี้ไปอีกพักใหญ่ทีเดียว

รถยนต์สำหรับชายพจน์


การจะหาพาหนะคู่ใจสำหรับคนมีชาติตระกูล หรือเหล่าผู้ดีนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ สำหรับในมุมมองของผมแล้ว ผมว่าเทียน่าใหม่นั้นเหมาะกับตัวละครผู้ดีเก่าในนิยายสุดคลาสสิตของชายไทยอย่าง “ท่านชายพจน์” ทุกประการ (ในกรณีที่ท่านไม่ได้นั่งรถสุดคลาสสิคจากยุโรป พวก แจกกวาร์ หรือ เบนท์ลีย์ นะครับ) ทำไมนะหรือ? คำตอบไม่ยากครับ เพราะทุกแง่มุมของรถคันนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่ให้คำนิยามของคำว่า “สุขุมคัมภีรภาพ” ได้อย่างชัดเจนที่สุด

เริ่มตั้งแต่รูปทรงทั้งภายนอกและภายในของ เทียน่า นั้นให้ความรู้สึกรถยนต์สำหรับ “ผู้ดี” ในทุกกระเบียดนิ้ว เพราะเส้นสายและวัสดุทุกเส้นที่ประกอบขึ้นมาเป็นเทียน่านั้น “หรูหรา และสง่างาม” (หากจะใช้คำภาษาอังกฤษ ผู้เขียนอยากจะใช้คำว่า Majestic ซึ่งหาได้ยากกับรถยนต์สมัยนี้) เทียน่านั้นใช้เส้นสายที่ไหลเนื่อง นุ่มนวล ดูราวกับเรือใบที่แล่นแหวกระลอกคลื่นบนทะเลสาบที่ราบเรียบ ทุกขณะเป็นไปแบบ นุ่มนวล แช่มช้อย สุภาพ ในห้องโดยสารนั้นการเลือกใช้วัสดุผิวกึ่งมันกึ่งด้านทั้งไม้และโลหะ แสดงออกถึงความใส่ใจในเรื่องของ “สัมผัส” มากทีเดียว เพราะให้ความพอดีในเรื่องของความสะท้อนแสง เราจะไม่พบอะไรที่แวววาวแปลบปลาบสะท้อนเข้าตา หรือทิ้งรอยนิ้วมือไว้เหมือนกับวัสดุผิวมัน วัสดุประเภทหนังสีอ่อนที่นุ่มนวลและให้สัมผัสราวกับกระเป๋าหนังชั้นดีก็ให้ความรู้สึกพิถีพิถัน (แม้จะทำให้เป็นกังวลได้ว่าจะอยู่รอดได้นานขนาดไหน) ความอบอุ่นนุ่มนวลยังคงถ่ายทอดลงมาในด้านการใช้แสงในห้องโดยสารของ เทียน่านั้นยังยึดแสงสีเหลืองอำพันเหมือนเดิม ซึ่งต่างจากรถคู่แข่งในระดับเดียวกันที่เน้นการใช้แสงสีแนวเทคโน อย่างสีฟ้า สีขาว ซึ่งแม้จะดูไฮเทคแต่หากมองในแง่ของความผ่อนคลายนั้น เทียน่า ตอบโจทย์ได้ตรงประเด็น ตำแหน่งของชุดเครื่องปรับอากาศและชุดอุปกรณ์นำทางอาจจะไม่คุ้นเคยอยู่บ้าง แต่กลับใช้งานได้ง่ายอย่างน่าแปลกใจ และจะข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ เบาะนั่ง ที่เรียกความประทับใจในความนุ่มสบายราวกับนั่งเก้าอี้ชั้นดีจากสแกนดินาเวียทีเดียว เรียกได้ว่าจะขับไปไกลแค่ไหนก็ไม่ต้องกังวล และหากจะไปกันไกลๆห้องสัมภาระด้านท้ายที่ใหญ่โตก็รับประกันว่า ไม่ต้องกังวลว่าจะใส่ถุงกอลฟ์ไม่พอ เพราะว่าเหลือเฟือจริงๆ

เรื่องของเล่น ของแต่ง อาจจะน้อยกว่าคู่แข่งไปนิด แต่หากมองในมุมกลับกัน นี่ไม่ใช่รถของนักซิ่ง หรือคนคลั่งเทคโนโลยี แต่เป็นรถสำหรับผู้ซึ่งพึงพอใจกับศิลปะของการใช้ชีวิต เพราะคนที่จะเลือกใช้เทียน่านั้นรู้ดีว่า ความงดงามของการใช้ชีวิตไม่ได้หมายความว่า ไปได้เร็วกว่า หรือ มีคนมองมากกว่า แต่ความงดงามของการใช้ชีวิตนั้นคือการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพนั่นเอง สรุปว่าถ้าคุณอยากจะมองหารถยนต์ที่ “มีระดับ” และไม่อยากให้คนมองว่าเป็น “เศรษฐีใหม่” หรือ “เสี่ย” เทียน่า ใหม่ เป็นคำตอบที่ดีครับ

อินฟินิตี เอสเซนซ์ นิยามใหม่ของศิลปะแห่งการใช้ชีวิต


หากคิดถึงยนตรกรรมหรูจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงเพียงแค่ เลกซัส จากค่ายโตโยต้า และชื่อ “อินฟินิติ”(Infiniti) ดูไม่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับชาวไทยในฐานะรถยนต์หรูเท่าใดนัก แต่สำหรับชาวอเมริกันแล้วพวกเขานั้นคุ้นเคยกับแบรนด์ “อินฟินิติ” ในฐานะยนตรกรรมจากนิสสัน ที่อยู่ในระดับเดียวกับแบรนด์หรูจากเยอรมันมากว่า 20 ปี

อินฟินิติ เอสเซนซ์ (Infiniti Essence) เป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี และเป็นตัวแทนของทิศทางการออกแบบของอินฟินิติในอนาคตที่พร้อมจะบุกตลาดยุโรปและตลาดโลกในฐานะ รถยนต์ระดับสูงจากนิสสัน โดยนิยามของแบรนด์นั้นใช้คำภาษาญี่ปุ่นว่า อาเดยากะ (Adeyaka) ซึ่งยากที่จะหาคำนิยามเป็นภาษาไทยได้ แต่อาจจะแปลได้ว่า ท่วงท่าสง่างามที่น่าหลงไหล ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพของชนชั้นสูงที่ได้รับการขัดเกลาบุคลิกภาพและมีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่ละเมียดละไม ในระดับที่ยากจะเลียนแบบได้

จากนิยาม “อาเดยากะ” อินฟินิติ เอสเซนซ์ ได้แสดงออกถึงท่วงท่าอันสง่างามของรถสปอร์ตสองที่นั่งที่ได้รับการออกแบบมาด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการแสดงออกถึงพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามดุจดั่งพลังพิโรธจากธรรมชาติ มากกว่าที่จะเป็นความดุดันก้าวร้าวแบบรถซิ่งเหมือนกับรถสปอร์ตจากแดนอาทิตย์อุทัยรุ่นอื่นๆ ด้วยการวางตำแหน่งของแบรนด์ไว้เป็นแบรนด์ระดับสูง กลุ่มเป้าหมายของ เอสเซนซ์ นั้นเลยโฟกัสไปที่ หนุ่มใหญ่รสนิยมดีวัย 42 ปีที่ประสบความสำเร็จทั้งชีวิตการงานและ ชีวิตส่วนตัว ผู้กล้าที่ลองความท้าทายใหม่ๆ และรู้จักที่จะคัดสรรและให้รางวัลกับชีวิตด้วยสิ่งที่ดีที่สุด บุคลิกภาพแบบชนชั้นนำนี้ได้สะท้อนลงมาในเส้นสายสัดส่วนแบบคลาสสิคของรถยนต์แบบจีที (GT) แบบหน้ายาวท้ายสั้นในแนวทางเดียวกับสปอร์ตพันธ์หรูแบบคลาสสิค ทั้งแอสตันมาร์ติน หรือ เฟอร์รารี่ เอฟ599 ฟิโอราโน ที่ลงตัวพอดิบพอดีแบบที่คนรักรถเห็นแล้วต้องรู้สึกได้ทันทีว่า รถคันนี้ “น่าขับ” แต่สิ่งที่แตกต่างจากรถสปอร์ตจากยุโรปก็คือ เส้นสายที่พริ้วไหวนั้น มิได้เกิดจากแนวความคิดเรื่องของมัดกล้ามของสิ่งมีชีวิต แต่เกิดจากการสอดประสานระหว่างมิติอันละเมียดละไมของวัฒนธรรมญี่ปุ่น เข้ากับจิตวิญญานยานยนต์ ผลที่ได้ก่อให้เกิดมิติที่หนักแน่นแต่เฉียบคมอันเกิดจากแรงบันดาลใจของฝีพู่กันญี่ปุ่นที่ตวัดลงบนผืนกระดาษอย่างหนักแน่นดูราวกับสายน้ำอันทรงพลังตัดผ่านหุบเขา ในแบบที่อินฟินิติ เรียกว่า “ไดนามิค อาเดยากะ” นอกจากนั้นในส่วนของรายละเอียดต่างๆบนตัวถังรถก็นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากความละเมียดละไมของศิลปกรรมญี่ปุ่น อาทิ ช่องระบายความร้อนด้านข้างตัวถังที่มีรูปร่างเหมือนกับ ปิ่นปักผมของสาวญี่ปุ่นโบราณที่เรียกกันว่า “คันซาซิ” (Kansashi)

ในส่วนของการออกแบบภายใน เอสเซนซ์ ได้แสดงออกถึงรูปแบบที่เน้นถึงความหลงไหลในการขับขี่ โดยแยกห้องโดยสารระหว่างผู้ขับขี่กับผู้โดยสารออกจากกัน ซึ่งรายละเอียดนั้นไม่เน้นความแพรวพราวแบบของเล่นไฮเทค แต่กลับเน้นไปที่ความใส่ใจในรายละเอียดผ่านทางวัสดุที่คัดสรรเป็นอย่างดีและการประกอบที่งดงามดั่งงานหัตถกรรม รวมไปถึงการร่วมมือกับผู้ผลิตกระเป๋าชั้นนำจากฝรั่งเศสอย่าง “หลุยส์ วุยตอง” (Louis Vuitton) ในการผลิตกระเป๋าเดินทางเข้าชุดกับรถก็ช่วยเน้นความเป็น ยนตรกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อชนชนนำได้อย่างชัดเจนเช่นกัน

การจะเข้าใจถึงสิ่งที่ อินฟินิติ ต้องการจะสื่อสารอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบทความสั้นๆ ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซท์ออนไลน์แม๊กกาซีนของอินฟินิติที่มีชื่อว่า www.adeyaka.com ซึ่งอัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจ และขับกล่อมนักท่องเว็บด้วยดนตรีแนวเลาจน์ที่ชวนให้ลุ่มหลงซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงจิตวิญญานของแบรนด์ได้ดีขึ้น แล้วคุณจะเข้าใจมากขึ้นว่า วิถีแห่ง อะเดยากะ นั้นคืออะไร