นับตั้งแต่อุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งแรกในปี 1869 หรือกว่า140 ปีมาแล้วเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวไอริส นาม แมรี่ วอร์ด พลัดตกจากรถยนต์พลังไอน้ำของญาติของเธอแล้วถูกทับจนเสียชีวิต เหล่าวิศวกรและนักประดิษฐ์ต่างก็มีความพยายามไม่มากก็น้อยที่จะค้นหาหนทางที่จะรักษาชีวิตของผู้ขับขี่ และปัจจุบันก็ยังรวมไปถึงชีวิตของผู้ร่วมทางคนอื่นด้วย
เมอร์ซีเดส เบนซ์ ผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่ที่สุดของโลกจากเยอรมนีเองก็เป็นหนึ่งในผู้นำในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ครัมเพิลโซน (Crumple Zone) หรือส่วนยุบเพื่อสลายแรงจากการชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่แหวกแนวมากในปี 1951 ที่แต่เดิมคนมักจะคิดว่า รถยนต์จะปลอดภัยต้อง “แข็ง” ,ระบบถุงลมนิรภัย, ระบบป้องกันล้อหยุดตาย หรือที่รู้จักกันดีในนาม เบรคเอบีเอส (ABS) , ระบบควบคุมการถ่ายกำลังลงพื้น (Traction Control) , ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Program) ,ระบบช่วยห้ามล้อ (Braking Assist) และอื่นๆอีกมากมาย (รวมไปถึงระบบไฟเลี้ยวที่ติดตั้งบนกระจกมองข้าง ซึ่งก็ถูกลอกเลียนแบบไปทั่วโลกในฐานะอุปกรณ์เสริมหล่อ) ก็ล้วนแต่เป็นผลงานจากห้องวิจัยของ เมอร์ซีเดส เบนซ์ แทบจะทั้งสิ้น (เว้นไว้ก็แต่ ระบบเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุด ที่ถูกคิดค้นโดย บริษัท วอลโว่)
ถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะพอใจกับความปลอดภัยของรถยนต์รุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่ (ที่แข่งกันว่าใครมีถุงลมนิรภัยมากกว่ากัน) แต่สำหรับศูนย์วิจัยความปลอดภัยของเมอร์ซีเดส เองคงไม่หยุดนิ่งอยู่แค่เพียงเท่านั้น เพราะสำหรับการจะเป็นผู้นำแล้วนั้นการได้แค่เหรียญทอง มันยังไม่ใช่ความพอใจสูงสุด (มันต้องเป็นการสร้างสถิติใหม่!) และบทพิสูจน์ของความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยก็คือ รถต้นแบบ อีเอสเอฟ 2009 (ESF 2009) ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถรุ่น เอส 400 ไฮบริจด์ (S400 Hybrid) รถคันนี้ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆที่ตื่นตาเกินจินตนาการของคนทั่วๆไป อาทิ ระบบที่เมอร์ซีเดส เรียกรวมๆว่า พรี-เซฟ (PRE-SAFE) อันประกอบไปด้วย ระบบ ถุงลมช่วยในการหยุดรถ (Braking Bag) ซึ่งนำเสนอรูปแบบของการใช้ถุงลมติดตั้งใต้ท้องรถระหว่างล้อหน้าทั้งสอง ซึ่งจะ “ขยายตัวออก” ลงไปครูดกับพื้นถนนในกรณีที่ระบบตรวจพบว่า รถมีการห้ามล้ออย่างรุนแรง นอกจากจะช่วยเพิ่มแรงเสียดทานชลอความเร็วแล้วระบบนี้ยังช่วยยกหน้ารถขึ้นเพื่อหากเกิดการประทะขึ้นระบบสลายแรงกระแทกจะได้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ระบบที่น่าทึ่งอีกชิ้นก็คือระบบโครงสร้างคานโลหะที่ “พองตัวได้” (Inflatable Metal Structure) โดยติดตั้งระบบคานนี้ไว้ด้านในของประตู ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุการชนด้านข้าง คานจะพองตัวออกโดยอัตโนมัติด้วยแรงดันอากาศ 20 เท่าของแรงดันบรรยากาศ (20 bar) ช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี ระบบพรี-เซฟ ยังรวมไปถึงระบบถุงลมภายในห้องโดยสารรูปแบบใหม่ที่พองกางออกมา “ขวาง” ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ และยังรวมไปถึงผู้โดยสารในตอนหลังมิให้ศรีษะกระทบกัน และระบบถุงลมภายในเบาะที่ช่วยดันร่างกายของผู้โดยสารให้เข้าไปสู้แนวกลางของรถให้มากที่สุดในกรณีมีการกระแทกจากด้านข้างอีกด้วย เมอร์ซีเดส เบนซ์อ้างว่าแนวคิดเรื่องนี้ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดกับกระดูกสันหลังในกรณีการชนด้านข้างได้ว่า หนึ่งในสาม
นอกจากระบบลดความเสียหายจากอุบัติเหตุแล้ว รถคันนี้ยังนำเสนอแนวคิดเพื่อการ “หลีกเลี่ยง” อุบัติเหตุอีกด้วย อาทิระบบสื่อสารอัจฉริยะ ผ่านทางระบบเครือข่ายไร้สายระหว่างรถกับสิ่งแวดล้อม และระหว่างรถต่อรถด้วยกันไปเป็นทอดๆ ทำให้ผู้ขับขี่ล่วงรู้สภาพการจราจรหรือสภาพอุบัติเหตุล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สายตาเพียงอย่างเดียว ราวกับมีพรายกระซิบ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากจุดบอดบนท้องถนนได้มากขึ้น ไม่ต้องกลัวรถคันอื่นจะโผล่ออกมาชนจากจุดที่เรามองไม่เห็นแบบในอดีตอีกต่อไป
เนื่องจากพื้นที่การเขียนมีจำกัดผู้เขียนคงไม่สามารถสาธยายนวัตกรรมใหม่ในรถคันนี้ได้อย่าลงลึกนัก แต่ด้วยทักษะทั้งการหลีกเลี่ยงและรับมือกับอุบติเหตุอันเกินร้อยของรถคันนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะทำให้คนขับรถได้ดีขึ้นหรือเลวลงกันแน่ เพราะทุกวันนี้อะไรๆมันดูวิ่งสวนทางกันยังไงไม่ทราบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น