Honda FCX Clarity, นวัตกรรมและความมุ่งมั่น
หากจะกล่าวถึงฮอนด้าในแง่นวัตกรรม เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเป็นหนึ่งในผู้มีวิสัยทัศน์และบุกเบิกในการพัฒนายนตกรรมหลายๆด้าน วัฒนธรรมนวัตกรรมนี้ได้กำเนิดมานับตั้งแต่ยุคของผู้ก่อตั้ง มร.โซอิจิโร่ ฮอนด้า ที่ได้ริเริ่มการสร้างนัวตกรรมทางยานยนต์ใหม่ๆมากมาย ทั้งประสบความสำเร็จ ทั้งล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ลูกสูปทรงไข่ในจักรยานยนต์แข่งรุ่น NR500 ที่แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของทั้งแฟนฮอนด้าเอง และคนรักยนตกรรมทั่วโลก หรือ การเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับทีมที่สามารถคว้าแชมป์โลกรถแข่งสูตรหนึ่ง 6 ปีติดต่อกันซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครก็ตาม (ทีม William F-1 ในปี 1986-7 และ McLaren ในปี 1988-91 และปัจจุบันฮอนด้ามีเครื่องยนต์ตั้งแต่ขนาดจิ๋วอย่างเครื่องตัดหญ้า ไปจนถึงเครื่องยนต์เรือ และเครื่องบินไอพ่น นับว่าเป็นเจ้าแห่งพลังงานในทุกมิติของพื้นโลกทีเดียว อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่อยู่ในสังคมมนุษย์อย่างที่เรารู้จักกันดีในนามของ Asimo และเมื่อกล่าวถึง นวัตกรรมเรื่องพลังงานสะอาดก็นับว่า ฮอนด้าก็เป็นแถวหน้าของโลกเหมือนกัน และที่เราจะแนะนำให้ท่านได้รู้จักกันในวันนี้ก็คือ Honda FCX Clarity
เซลล์เชื้อเพลิง อนาคตของพลังงานมาถึงแล้ว
ฮอนด้าได้ทำการบุกเบิกรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมากว่าสิบปีแล้ว โดยรถไฮโดรเจนจะมีนามเรียกขานว่า FCX ( Fuel Cell Xperimental) โดยรุ่นแรกออกมาเมื่อเดือนกันยายนปี 1999 โดยเป็นเพียงหุ่นจำลอง(แต่แนวคิดเรื่องรูปทรงถูกนำไปใช้กับรถรุ่นยอดนิยมรุ่นหนึ่งนั่นก็คือ Honda Fit Aria หรือ City ในบ้านเรานั่นเอง) แต่รุ่นที่วิ่งได้จริงออกมาในปี 2002 ในรูปแบบของรถคอมแพ็คทรงกล่องขนาดจิ๋ว และในรูปแบบอย่างที่เห็นอยู่นี้ในปี 2005 ณ. Detroit Autoshow 2005 ประเทศสหรัฐอเมริกา และในแบบที่พร้อมใช้งานได้จริงในชื่อ FCX Clarity 2008 นี้ได้เปิดตัวในงาน Los Angeles Auto Show 2007 นี่เอง ในนาทีนี้ FCX Clarity แม้เป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้จริงแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่เปิดให้ใช้งานในลักษณะเช่าซื้อได้ในช่วงระยะเวลา 36 เดือน โดยมีอัตราราว $600 ต่อเดือน (ราว 20,000 บาท/เดือน) เนื่องจากสถานีไฮโดรเจนยังมีจำกัด แหล่งพลังงานได้มาจากการเติมไฮโดรเจนเก็บไว้ในถัง (เหมือนถัง CNG ในท้ายรถของท่าน) โดยหาเติมได้ในเครือข่ายสถานีไฮโดรเจนที่ได้รับการกำหนดไว้ ไฮโดรเจนจะถูกป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่มีการออกแบบในลักษณะที่ฮอนด้าเรียกว่า V-Flow ( Vertical Flow Fuel Cell) ที่มีขนาดเล็กเป็นพิเศษและติดตั้งอยู่ในตำแหน่งระหว่างที่เบาะนั่งคู่หน้าทั้งสอง ซึ่ง ณ.ที่นั้นมันจะทำปฏิกริยากับออกซิเจนที่เราหาได้จากอากาศรอบตัวเรา ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กระแสไฟฟ้า และ น้ำ และกระแสไฟฟ้าที่ได้จะนำมาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าและนอกจากนั้นยังมีแบตเตอรี่ลิเธียมอิออนน้ำหนักเบาที่ใช้เก็บกระแสไฟฟ้าที่ได้จากการชลอความเร็วจากการเบรคอีกด้วย ความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆให้มีขนาดเล็กลงพร้อมกับประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆทำให้ FCX Clarity มีพื้นที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันได้จริง และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเหมือนดั่งรถยนต์ที่เราๆท่านๆมีใช้กัน (Zero Emission Vehicle) (อยากรู้เรื่องของเซลล์เชื้อเพลิงเพิ่มเติมเชิญได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Fuel_cell )
รูปลักษณ์ที่ก้าวล้ำและวางรากฐานให้กับทิศทางการออกแบบของฮอนด้าในปัจจุบันและอนาคต
หากท่านพิศชมรูปทรงของ FCX อันเป็นผลงานของ Honda Advance Design Studio ที่ตั้งอยู่ที่ย่านหรูของกรุงโตเกียวในย่าน รปปงหงิ แล้วคงจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าดูคล้ายคลึงกับรถอย่าง Civic ทั้งด้านนอกและด้านในอย่างบอกไม่ถูก ใช่แล้วครับ! FCX Concept (2005) นี่เป็นผู้ให้แรงบันดาลใจเรื่องรูปทรงให้แก่ Honda Civic FDหนึ่งในรถยนต์ยอดนิยมของไทย (เพราะรุ่น FD นี้ ขายในเมืองไทยได้มากกว่าญี่ปุ่นเสียอีกครับ!) เส้นสายทั้งภายนอกและภายในของ Civic FD เป็นการปรับแต่งลดทอนมาจากรูปทรงล้ำอนาคตของ FCX นั่นเอง ด้วยรูปทรงหน้าสั้น และห้องโดยสารที่ยาวและลื่นไหลต่อเนื่องแต่ในขณะเดียวกันก็ดูเขม็งตึง สื่อให้เห็นถึงความเร็วลากไปยังท้ายรถ ในแบบที่เรียกได้ว่าเป็นทรง Monoform ที่ให้ความสนใจกับห้องโดยสารอย่างเต็มที่ รวมไปถึงกระจังหน้าที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นกระจังหน้าที่ดูทะมัดทะแมงอันเป็นเอกลักษณ์ของฮอนด้าแอคคอร์ดก็ได้ถูกติดตั้งบนรถ FCX มาก่อนเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามรูปทรงเช่นนี้ไม่ได้มาเพราะความบังเอิญ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุผล อาทิ กระจังหน้าขนาดใหญ่มาจากความต้องการในการติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนออกซิเจนและควบคุมอุณหภูมิของระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่ต้องการคุณสมบัติการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิที่ต้องดีมากๆ ห้องเครื่องที่สั้นเกิดจากเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กมาก และรูปทรงที่ลู่ลมก็มีไว้เพื่อความต้องการด้านการประหยัดพลังงานนั่นเอง พัฒนาการด้านรูปทรงกว่าจะมาเป็น FCX Clarity นับได้ว่ามีความต่อเนื่อง และได้ปรับในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตจริงและมีราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นจัดสรรพื้นที่เก็บสัมภาระที่พอเพียงแม้จะไม่กว้างขวางนักเพราะถังไฮโดรเจนมีขนาดใหญ่ (น่าจะใหญ่กว่าถัง CNG เสียอีก) ด้วยการทำให้ท้ายสูงขึ้น (แต่ก็ยังไม่ลืมเปิดช่องมองให้สามารถมองทะลุออกจากภายในได้ ซึ่งฮอนด้านิยมเทคนิคนี้มาตั้งแต่สมัย Honda CRX ตั้งแต่ยุด 90) หรือหลังคาที่สูงขึ้นเพื่อรับกับผู้โดยสารและขับขี่ที่มีขนาด XXL ได้ และที่เห็นว่ารถต้นแบบดูสวยกว่าไม่ใช่ปัญหาอะไรมากหรอกครับ มันเกิดจาก Clarity เลือกล้อขนาด 15 นิ้ว แทนที่จะเป็นล้อขนาด 20 นิ้วเหมือนรุ่นต้นแบบ ด้วยสาเหตุด้านความประหยัดพลังงานที่ล้อขนาดใหญ่ที่แม้จะสวยแต่ก็กินพลังงานมากตามไปด้วยเท่านั้นเอง
เซลล์เชื้อเพลิง ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย?
หากถามว่าเซลล์เชื้อเพลิง จะเป็นคำตอบสุดท้ายของพลังงานหรือไม่ ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธง เพราะผมไม่ใช่หมอลักษณ์ เรขนิเทศน์ แต่ผมก็เชื่อว่า FCX Clarity จะเป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับพวกเราว่าถึงน้ำมันจะหมดไป อิสรภาพแห่งการเดินก็ยังไม่ได้ตายตามไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จาก Power of Dream ของวิศวกร และนักออกแบบของฮอนด้านั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น