วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Nissan Land Glider ราวหงส์ร่อน มังกรรำ










ในฉบับนี้ เดลินิวส์ มี โตเกียวมอเตอร์โชว์ อลังการสถานมหกรรมแสดงแนวคิดใหม่ๆแห่งโลกยนตรกรรมเป็นเนื้อเรื่องหลัก และหากจับตายานยนต์ต้นแบบจะไม่นำเอารถต้นแบบเด่นๆ จากงานนี้มาเป็นพระเอกก็เห็นจะกะไรอยู่ ในงานนี้ค่ายรถแดนอาทิตย์อุทัย ทุกค่ายต่างงัดเอาไม้เด็ดของตนเองออกมาโชว์กันอย่างถ้วนหน้า เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร ดังที่เราได้เห็นในคอลัมน์อื่นๆไปกันแล้ว
สำหรับค่ายนิสสันนั้น รถเด่นของเขาในงานนี้ในสายตาของผมกลับมิใช่ รถสปอร์ตความเร็วสูง หรือรถหรูอลังการที่น่าหลงไหล แต่กลับเป็นรถแนวคิดเพื่อการเดินทางในเมืองคันเล็กๆ ที่มีชื่อว่า แลนด์ กไลด์เดอร์ (Land Glider) ซึ่งหากจะมองย้อนกลับไปก็จะพบว่า นิสสัน ให้ความสำคัญกับเรื่องของการค้นหาคำตอบใหม่ๆสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันเสมอมา อาทิ รถแนวคิด พีโว่ (Pivo) ที่มีจุดเด่นตรงที่ห้องโดยสารหมุนได้ และการนำโรโบติคเอเจ้นท์ (Robotic Agent) หรือหุ่นยนต์ผู้ช่วยมาใช้เพื่อให้โลกของการเดินทางเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น
แต่สิ่งที่รถแนวคิดรุ่นก่อนๆของนิสสันนั้นขาดหายไปก็คือ ความสนุกสนาน ซึ่ง แลนด์ กไลด์เดอร์ ก็ได้ปรับปรุงเรื่องนั้นโดยเป็นรถยนต์ที่ผสานความคล่องแคล่วของจักรยานยนต์ เข้ากับความปลอดภัยของรถยนต์ และได้ออกมาเป็นรูปแบบของการเดินทางใหม่ที่ปราดเปรียวและสนุกสนาน ด้วยรูปแบบการนั่งแบบแทนเดม (Tandem) หรือนั่งเรียงซ้อนกันแบบจักรยานยนต์และ มีความกว้างตัวรถเพียง 1.1 ม ช่วยให้การขับขี่ ลัดเลาะไปในถนนหรือซอยแคบ สะดวกโยธินเป็นอย่างยิ่ง แถมด้วยมีระบบช่วยเอียงตัวเข้าด้านในของโค้งขณะเลี้ยวทำให้สามารถทิ้งโค้งได้มุมถึง 17 องศา ช่วยให้การเข้าโค้งนั้น เร็ว และพริ้วราวกับเล่นสเก็ตน้ำแข็งก็ว่าได้ (ซึ่งต่างจากรถยนต์ 4 ล้อทั่วๆไปที่เวลาเข้าโค้ง ตัวรถจะยกขึ้นด้านในโค้งทำให้หากเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงรถอาจจะยกด้านในโค้งขึ้นและพลิกคว่ำได้ ต่างจากพวก 2 ล้อที่จะเอียงเข้าด้านในโค้ง ช่วยให้ปลอดภัยกว่ามาก)
นอกจากนั้น นิสสันยังนำเสนอระบบอัดประจุไฟฟ้าให้เซลล์แบตเตอรี่แบบไร้สาย ให้ความสะดวกสบายกับการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือหากคุณขับรถเข้าไปในห้างสรรพสินค้าที่มีระบบนี้อยู่ ระบบก็สามารถประจุไฟให้คุณเองได้ และเมื่อคุณสนุกกับการช้อปปิ้งจนหนำใจและ รถของคุณก็พร้อมจะเดินทางด้วยไฟที่เต็มอีกด้วย
ในด้านความปลอดภัย นิสสันก็ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นที่นำเสนอเทคโนโลยีการหลีกเลี่ยงการชน โดยอาศัยแนวคิดจากการหลบเลี่ยงการประทะของฝูงปลาที่ว่ายไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบบนี้จะอาศัยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผู้ช่วยในการทำงานประสานผู้ขับขี่ ช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยไร้กังวลได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่า แลนด์ กไลด์เดอร์ นั้นจิ๋วแต่แจ๋ว สมกับเป็นรถแนวคิดเพื่อชีวิตอนาคตจริงๆ
และหากท่านอยากจะทราบถึง เรื่องราวการออกแบบของนิสสันในอีกหลายๆแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการออกแบบ การสร้างหุ่นจำลอง การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ หรือกระทั่งเรื่องการออกแบบสีสัน ปัจจุบันนิสสันได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในรูปแบบของ PDF ไฟล์ให้ดาวน์โหลดกันแล้วที่http://www.nissanpress.co.uk/press_site/menupages/design-newsletter.html

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ใครที่ว่าแน่ ดีเซลซิแน่กว่า



ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคของการหาทิศทางใหม่ๆของระบบเครื่องยนต์ของรถยนต์ ที่มาแรงมีด้วยกัน 2 แนวทาง ทางหนึ่งก็คือระบบไฮบริดไฟฟ้า ที่ทางค่ายญี่ปุ่นและอเมริกัน นิยมกันมาก และอีกทางหนึ่งก็คือ ค่ายดีเซลคอมมอนเรล ไดเร็คอินเจ็คชั่น ที่นิยมกันอย่างมากในยุโรป (สมถรรนะของเครื่องดีเซลยุโรปนี้ต่างจากดีเซลที่เราใช้กันในกระบะอยู่มากพอสมควรนะครับ) ส่วนพลังงานอื่นๆอาทิ ไฟฟ้าล้วน นั้นกำลังจะมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เชื่อว่าจะแรงเหมือนกัน

เมอร์เซเดส เบนซ์ ซี220 ซีดีไอ รุ่นประกอบในประเทศคันที่เราทดสอบวันนี้ก็เป็นหนึ่งในกระแสของรถยนต์ดีเซลสมถรรนะสูงจากเยอรมนี ที่ถึงพร้อมไปด้วยสมถรรนะในการขับขี่ในทุกๆด้าน ส่วนด้านของการออกแบบนั้นก็นับได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเบนซ์แบบคลาสสิค ผสานเข้ากับทิศทางการออกแบบใหม่ๆที่ล้ำหน้า

เริ่มต้นที่กระจังหน้า รถรุ่นนี้ยังคงไว้ซึ่งกระจังหน้าแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันหลายๆท่านนิยมเลือกกระจังหน้าแบบสปอร์ตแบบในรุ่นอวังการ์ด (Avant Garde) แต่ผมเองกลับคิดว่า กระจังหน้าแบบดั้งเดิมที่ดูอนุรักษ์นิยมนิดๆแฝงไว้ด้วยสไตล์แบบผู้ดีนั้นกลับดูหรูหราและภูมิฐานไม่แพ้ใครเช่นกัน ในส่วนของรูปร่างของ ซี-คลาส เจนเนอเรชั่นที่ 3 นี้ดูลงตัว ทะมัดทะแมง และจับเหลี่ยมมุมได้สวยงาม เป็นหนึ่งในรถเก๋งเอ็กเซ็คคิวทีพขนาดเล็กที่ดูดีที่สุดในคลาสคันหนึ่ง แต่ล้ออัลลอยด์ที่ให้มาดูจะเล็กไปสักนิด แต่ก็ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ได้อย่างรื่นรมย์

ทัศนวิศัยการขับขี่จากมุมมองของผู้ขับนั้นสมบูรณ์แบบ ผู้ขับสามารถขับได้อย่างปรอดโปร่ง และไม่มีจุดบอดใดต้องกังวลไม่เสียชื่อที่เบนซ์ได้ทุ่มเทพัฒนารถยนต์ของตนให้เป็นผู้นำด้านความปลอดภัยเสมอมา การออกแบบภายในนั้นดูขึงขังจริงจัง และประกอบขึ้นจากวัสดุชั้นดีที่ดูแข็งแรงหนักแน่น ทริมไม้สีดำมันแบบเปียนโน ดูหรูและไม่ “เสี่ย” น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ เบาะที่นั่งนั้นแม้จะไม่โอบกระชับแบบรถสปอร์ต แต่ให้การรองรับที่สบายมากๆ การเดินทางไกลๆไม่ปรากฏความเมื่อยล้าให้รำคาญใจ ตำแหน่ง รวมถึงการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปได้อย่างสะดวกสบายตามหลัก การยศาสตร์ (Ergonomics) แม้หลายๆอุปกรณ์ต้องการความเคยชินสักนิด อาทิ การใช้งานระบบมัลติมีเดียและระบบโทรศัพท์บลูทูธ ที่สับสนบ้างเล็กน้อย แต่หากเคยชินแล้วก็ใช้งานได้สบาย

อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มากับ ซี220 ซีดีไอ ราคาเกือบๆ3ล้าน นั้นน่าแปลกใจที่ เบนซ์เลือกที่จะตัดสิ่งที่เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานสำหรับรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมออกไป อาทิ เซนเซอร์ถอยหลัง และกระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ ที่ใช้กันจนเคยชิน จนทำให้สงสัยว่า ระบบการบริหารต้นทุนของ เบนซ์มีปัญหาหรืออย่างไร ทำไมอุปกรณ์ราคาไม่แพงแบบนี้ถึงต้องเป็นเหยื่อในการโดนตัดออกไปด้วย ส่วนเอกลักษณ์ที่น่าอึดอัดของเบนซ์บางอย่างก็ยังคงตามาหลอกหลอนรถรุ่นนี้อยู่ อาทิ คันเกียร์อัตโนมัติที่มีช่วงการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก เกียร์ว่าง มาเป็นเกียร์เดินหน้าที่ ยาวและหนักเหมือนเกียร์รถแทรกเตอร์ แถมยังเวลาเปลี่ยนกลับไปจากตำแหน่งเดินหน้า ไปว่างก็ยังเขย่ารถ พร้อมกับส่งเสียง “กึ้ง!” ได้อย่างน่ารำคาญทุกครั้งไป

แฟนประจำของเมอร์เซเดส เบนซ์ คงจะให้อภัยได้ เพราะกับสิ่งอื่นๆที่แลกกลับมาไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย สมถรรนะ นั้นโดดเด่น และที่สำคัญก็คือ อิมเมจ ที่ไม่เป็นสองรองใครของรถตราดาวสามแฉกนั่นเองครับ

Lexus RX450h นวัตกรรมอนาคต



เมื่อได้รถเล็กซัสรุ่น อาร์เอ็กซ์ 450 เอช ( Lexus RX 450h) ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของเอสยูวีระดับพรีเมี่ยม ของค่ายเล็กซัส (หรือที่บ้านเราคุ้นเคยกันดีในชื่อของ โตโยต้า แฮริเออร์ ในอดีต) เท่าที่ผ่านมารถในตระกูลนี้เป็นรถที่เศรษฐีไทยคุ้นเคย ด้วยจุดเด่นที่มีเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดหลายๆประการ อาทิ หน้าตาที่เฉียบคม ผู้ชายขับได้ผู้หญิงขับดี ความนุ่มนวลและเรียบลื่นของการขับขี่ที่เหนือระดับ แถมอัดแน่นไปด้วยลูกเล่นไฮเทคล้ำสมัย รวมไปถึงความทนทานตามแบบฉบับของโตโยต้า ทำให้ชื่อของ ตระกูลอาร์เอ็กซ์นั้นเป็นตัวเลือกต้นๆของเหล่าผู้มีอันจะกินในบ้านเราเสมอมา

สำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 3 นี้ก็ยังไม่ทิ้งสูตรสำเร็จของความสำเร็จคือ “สวย สบาย และ สมาร์ท” แถมในรุ่น 450 เอช นี้ยังเพิ่มคำว่า “สะอาด” เข้าไปอีกด้วย ความสะอาดนี้ได้มาจากการนำเอาระบบไฮบริดไฟฟ้ามาพ่วงเข้ากับเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเบนซิน วี6 ขนาด 3.5 ลิตร (แนวคิดเดียวกับระบบที่โตโยต้า แคมรี่ ไฮบริด รถยอดนิยมคันใหม่ของผู้บริหารเมืองไทยใช้ ที่ขายดีเทน้ำเทท่า ทำเอาคู่แข่งเจ้าอื่นนั่งมองตาละห้อยทีเดียว) ที่นอกจากจะลดมลภาวะทั้งเสียง และอากาศช่วยให้โลกของเราไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ ยังได้มาซึ่งแรงบิดที่ดีเยี่ยมที่รอบต่ำจากการทำงานควบคู่กันของมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ ผสานกับระบบเกียร์ ซีวีที ทำให้สมถรรนะการขับขี่ในเมืองนั้นนุ่มนวลและต่อเนื่องราวกับว่ารถคันนี้ใช้เครื่องยนต์ขนาด 8 สูบเลยทีเดียว

ด้านรูปโฉม ภายนอก รถรุ่นใหม่นี้ฉีกแนวจาก 2 รุ่นเดิมเป็นอย่างมาก รูปร่างคมเฉียบแบบเดิมกลายเป็นเพียงอดีต และสิ่งที่ได้มาใหม่ก็คือรูปทรงที่ประกอบไปด้วยพื้นผิวตัวถังที่ซับซ้อน ดูราวกับนักออกแบบและโมเดลเลอร์คู่ใจต่างพยายามถ่ายทอดปรัชญาการออกแบบที่จงใจจะให้ดูแล้ว “ลึกซึ้ง” แต่สำหรับสายตาของผมแล้วแม้จะดูแล้ว “พรีเมี่ยม” พอตัว และดู “ซับซ้อน” สมกับเป็นรถยนต์ระดับหรู แต่หากวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ผมคิดว่ารถคันนี้ขาดความ “แมน” ไปพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ เอสยูวีระดับพรีเมี่ยมจากค่ายยุโรป โดยเฉพาะส่วนของกระจังหน้าและพื้นผิวที่ไม่ค่อยกระชับ ดูเป็น “สตรีเพศ” มากกว่ารุ่นก่อนๆที่เป็น “บุรุษเพศ” ของแบบนี้ก็แล้วแต่จะมองครับ แต่ที่แน่ๆดูแล้วการเอารถรุ่นนี้ไปลุย คงจะไม่เหมาะแน่ๆ แต่ถ้าเอาไว้ขับไปรับส่งลูกหรือขับไปช้อปปิ้ง รถรุ่นนี้ดูจะลงตัวกับกิจกรรม “สบายๆ” มากกว่า

ส่วนของการออกแบบภายใน ผู้ที่คุ้นเคยกับรถ อาร์เอ็กซ์ รุ่นก่อนๆอาจจะแปลกใจที่พบว่า องค์ประกอบเดิมๆของหน้าจอที่หล่อเหลาเอาการนั้นถูกแทนที่ด้วยเส้นโค้งฉวัดเฉวียน ซึ่งองค์ประกอบของรายละเอียดทางการออกแบบ และการเลือกผสมผสานวัสดุดูขัดๆตา เชยๆ ไม่ล้ำยุคอย่างที่อยากจะเห็น แต่ขึ้นชื่อว่า เล็กซัสแล้ว แม้จะดูไม่ล้ำยุค แต่เรื่องของลูกเล่นก็มีมาให้เล่นเพียบ แต่ที่ถูกใจเอามากๆก็เห็นจะเป็นกระจกมองหลังที่ผสานกล้องถอยหลังในตัว ช่วยให้ไม่ต้องกวาดสายตาขึ้นๆลงๆระหว่างจอภาพ กับกระจกอีกต่อไป และระบบระบายความร้อนที่เบาะหน้าซึ่งสบายหลังและลดการเหงื่อออกเอามากๆ แต่ที่น่าตำหนิก็เห็นจะเป็นเสียงก้อกๆแก้กๆจากส่วนปิดห้องสัมภาระที่หากเจอถนนที่ไม่เรียบจะส่งเสียงดังออกมาจนน่ารำคาญ ไม่ทราบว่าเป็นเฉพาะคันที่เราทดสอบหรือไม่ แต่หากไม่นับเรื่องนี้ ส่วนสัมภาระก็นับได้ว่ากว้างขวางและใช้งานได้ดี

ความแตกต่างระหว่างรุ่นธรรมดาอย่างรุ่น อาร์เอ็กซ์ 350 กับรุ่นไฮบริด อาร์เอ็กซ์ 450 เอช นั้นมีไม่มากนัก ที่เห็นได้ชัดๆก็คงจะเป็นล้อขนาด 19 นิ้ว ในขณะที่รุ่น 350 นั้นใช้ล้อขนาดเล็กกว่าคือ 18 นิ้ว และรายละเอียดต่างๆที่รุ่น 450 เอช นั้นเลือกที่จะใช้สีของชิ้นส่วนโครมเมี่ยมที่ติดไปทางสีน้ำเงินมากกว่า อาทิ ดวงโคมไฟหน้า และไฟท้าย ส่วนด้านภายในนั้นส่วนที่แตกต่างก็คือรุ่น 450 เอช นั้นไม่มีมาตรวัดรอบ แต่จะมีมาตรแสดงการทำงานของระบบไฮบริดเข้ามาแทนและจะมีไฟสีน้ำเงินเข้ามาเป็นแบ็คกราวน์เสริมบริเวณหน้าปัด

สรุปภาพรวมทางการออกแบบก็คือ เล็กซัส อาร์เอ็กซ์ 450 เอช คือ เอสยูวีระดับ พรีเมี่ยม ที่เน้นหนักที่การใช้งานในเมือง และสะท้อนภาพของชีวิตที่สะดวกสบาย แถมด้วยความประหยัดราวกับใช้รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์เพียง 4 สูบ 2.4 ลิตร แต่สมรรถนะเหมือนเครื่องยนต์ วี 8 ขนาด 4 ลิตร ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าส่วนใหญ่ได้ตรงประเด็นทีเดียว

86 คืนชีพ






อ่ะๆ อ้วนซ่า ไม่ได้ใบ้หวยนะขอรับ อย่าพึ่งเข้าใจผิด(แต่ถ้าถูกจริง ก็ไม่ต้องเอาผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกมาคล้องรอบเอวนะครับ มันสยิว) 86 คือเลขในตำนานของเหล่าคนรักความเร็วที่กำลังจะฟื้นคืนชีพขอรับ

86 ที่ว่านี้คือชื่อของ รถยนต์สปอร์ตคูเป้ ขับเคลื่อนล้อหลัง น้ำหนักเบา ของโตโยต้ารุ่น เอฟที 86 (FT-86) รถต้นแบบคันล่าสุดที่จะเปิดตัวงาน โตเกียวมอเตอร์โชว์ 2009 สิ้นเดือนนี้นั้นเอง รถคันนี้นอกจากจะมีรูปทรงเฉียบขาดปราดเปรียวแบบรถคูเป้ขนาดขับเคลื่อนล้อหลังพันธ์แท้ ที่เกิดมาเป็นคู่ปรับของ นิสสันซิลเวีย สปอร์ตตัวเจ็บจ้าวสนามดริฟท์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังมีส่วนผสมทางวิศวกรรมที่แหวกขนบของโตโยต้าอย่างสุดขั้วเพราะรถคันนี้ใช้เครื่องยนต์บ๊อกเซ่อร์! แม่นแล้ว บ๊อกเซ่อร์ เครื่องยนต์สูบนอนยัน ที่มีจุดเด่นที่จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่ารถทั่วๆไป ที่ปัจจุบันมีเหลือผู้ผลิตอยู่เพียงสองเจ้าเท่านั้นคือ พอร์ช (Porsche) จากเยอรมนี และซูบารุ (Subaru) เพื่อนร่วมชาติแดนปลาดิบ และหากจะเดาว่าโตโยต้าให้ใครผลิตให้ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าขุมกำลังของเจ้า เอฟที 86 นี้ผลิตโดยซูบารุ ราชันย์ขับสี่ล้อแรลลี่โลกนั่นแล ดังนั้นจึงเชื่อขนมกินได้ว่า เอฟที 86 จะต้องเร้าร้อนด้วยพละกำลังดุดันสไตล์ซูบารุที่นักซิ่งทั่วทุกมุมโลกต่างซูฮก ผสานเข้ากับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ที่เมินระบบเกียร์อัตโนมัติแบบอัจฉริยะทั้งหลายแต่หันมาส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 สปีดแบบดั้งเดิม กับตัวถังเบาๆขนาดย่อมๆ จะให้อารมณ์การขับขี่ที่เมามัน ดิบ เถื่อน ได้ใจ แบบที่รถสปอร์ตยุคใหม่ที่มีอุปกรณ์ช่วยมากมายประดามีทำกันไม่เป็น นี่แหละรถของหนุ่มนักซิ่งขนานแท้ รถที่จะให้ความเร้าใจได้แบบที่กระเป๋าไม่ฉีกกระจายเป็นเสี่ยงๆ

การกลับมาของรหัส 86 นี้เกิดจากกระแสของการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง อินนิเชียล ดี (Initial D) โดยแท้ เพราะ 86 นี้คือรหัสของรถโตโยต้ารุ่น โคโรลล่า ทรูโน หรือ ที่รู้จักกันดีในหมู่เฮาชาวนักซิ่งว่า เออี 86 (AE-86) รถจากยุค 80 คู่ใจของกระทาชายนายทาคุมิ พระเอกหน้าง่วงนอน ผู้ต้องรับรับหน้าที่ขนเต้าหู้สดที่ที่บ้านทำขึ้น ขับข้ามเทือกเขาอากินะไปส่งที่เมืองข้างๆทุกเช้ามืดด้วยทักษะความเร็วระดับเทพ (เพราะอยากรีบกลับมานอน) ผู้ซึ่งในที่สุดได้กลายมาเป็นเทพเจ้าแห่งทางเลียบภูเขาจากการถูกประลองทั้งทางตรงและอ้อมจากนักซิ่งเลียบเชิงเขาคนอื่นๆ และผลจากการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือการเป็นผู้สร้างกระแสการขับรถสไลด์ทางข้างหรือ ดริฟท์ติ้ง (Drifting) ให้โด่งดังไปทั่วโลกนั่นเอง พร้อมกับกระแสการบูรณะรถรุ่น เออี 86 ที่ถูกทิ้งเป็นซากให้เปรี้ยวยิ่งกว่าตอนเป็นรถรุ่นใหม่ๆซะอีก

ในเรื่อง86 ของนายทาคุมิในเรื่องก็คือ รถเก่าๆที่พ่อโละมาให้ใช้ รถที่เหล่าคู่แข่งตอนแรกๆต่างก็หยามเหยียดเพราะเป็นรถรุ่นเก๋ากึ๊ก แต่กลับกลายเป็นว่า น้ำหนักที่เบา ตัวรถที่เล็ก สมดุลที่ดีผสานเข้ากับทักษะ(ที่เกิดจากการเคี่ยวกรำของพ่อในการขนเต้าหู้ให้ทั้งรวดเร็วและนิ่มนวลทุกๆเช้า)ของนายทาคุมิ ได้สอนมวยให้รถแรงๆมานักต่อนัก เรียกได้ว่าไร้พ่ายก็ว่าได้ จะแพ้ก็แต่ ซูบารุ อิมเพรซ่า ลึกลับเพียงคันเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่ของใครอื่นเพราะมันคือรถของนายบุนตะ บิดาบังเกิดเกล้าของ ทาคุมินั่นเอง ไม่อยากจะเดาเลยว่านี่คงเป็นแรงบันดาลใจให้วิศวกรของโตโยต้าจับเอารถสองรุ่นมาผสมพันธ์กันระหว่าง ตัวถังคูเป้ กับ เครื่องบ๊อกเซอร์ รวมกันได้ออกมาเป็น เอฟที 86 นั่นเอง...แหมคิดไปได้

รถยนต์จากคำอธิฐานของนักซิ่งวัยกระเตาะผู้หลงไหลโลกของการขับรถทางข้างได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และเราคงต้องจับตาดูว่า 86 จะสร้างตำนานบทใหม่สำเร็จหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ อ้วนซ่ากระสันอยากได้จริงๆขอรับ

หมดมุข!


สวัสดีวันอาทิตย์กันอีกครั้งกับหนุ่มอ้วนอารมณ์ดี อ้วนซ่า แอบซิ่ง ช่วงเดือนที่ผ่านมาในวงการจักรยานยนต์มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ติดๆกันถึง 2 รุ่น จากคือ ฮอนด้า สกู้ปปี้ และซูซุกิ เจลาโต ซึ่งจะว่าไปทั้งสองรุ่นก็ล้วนแต่น่ารัก คิกขุอาโนเนะ ในสไตล์สกูตเตอร์ ที่มาพร้อมกับสีสันที่กุ้กกิ้กได้ใจและ แนวการแต่งรถที่หลากหลายสนุกสนาน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของหนุ่มสาววัยโจ๋อย่างยิ่ง

แต่ทั้งสองรุ่นนั้นแม้จะน่ารัก แต่กลับน่าผิดหวังในสายตาของอ้วนซ่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองรุ่น โดยเฉพาะ ฮอนด้า สกู้ปปี้ นั้นขาดความเป็นตัวของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย เพราะแทนที่จะหาเส้นทางเดินที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดที่ ยามาฮ่า ฟีโน่ ผู้ริเริ่มตลาดของ จักรยานยนต์แนวย้อนยุคที่ไม่เน้นแนวสปอร์ตบุกเบิกเอาไว้ โดยไม่หาเอกลักษณ์ของตัวเองแต่กลับเลือกที่จะกระโดดลงไปในตลาดที่ ฟีโน่ ได้ริเริ่มเอาไว้ อย่างที่เรียกว่า ขาดความ “สด” และ ทิ้งศักดิ์ศรีของเจ้าตลาดโดย “ยอมเป็นผู้ตาม” ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับฮอนด้าเอาเสียเลย เพราะหากที่จะเลือกเดินเส้นทาง “สไตล์ย้อนยุค” รถเด่นในอดีตของฮอนด้าเองก็มีไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็น รถจักรยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่าง ฮอนด้า คัพ 50 หรือ รถจอมกวนอย่างมังกี้ หรือกอริลล่า (ที่ใครเคยดู สาระแน ห้าวเป้ง คงจำรถของพระเอกได้) ก็ยังสามารถเอามาปรับบุคลิกให้เป็นรถจักรยานยนต์แห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีบุคลิกแบบ ฮอนด้าแท้ๆได้สบายๆ

ในบริบทของธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างสูงในตลาดเดียวกันหรือ ที่รู้จักในชื่อว่า “เรด โอเชี่ยน” (Red Ocean) หรือ น่านน้ำสีแดง อันแดงฉานไปด้วยเลือดของการห่ำหั่นกันทุกวิธีทาง ด้วยกลยุทธ์ผู้ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบ หั่นราคา หรือปรับปรุงจากผู้นำทีละนิดนั้น ส่วนใหญ่ยากที่จะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนอย่างผู้ริเริ่มได้ทำไว้ การจะอยู่รอดได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะฉีกตัวออกไปสู่ น่านน้ำสีน้ำเงิน หรือ “บลูโอเชี่ยน” (Blue Ocean) ที่เป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่ได้รับการบุกเบิกและ สงวนไว้สำหรับผู้มีวิสัยทัศน์ เหมือนดั่งที่ ยามาฮ่า ฟีโน่ หรือ โตโยต้าแคมรี่ ไฮบริด หรือกระทั่งโทรศัพท์อัจฉริยะอันโดดเด่นด้วยระบบจัดการอันพร้อมพรั่งอย่าง แอปเปิ้ล ไอโฟน เป็นตัวอย่างของผู้มีวิสัยทัศน์และ ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลจนผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนน่านน้ำสีเลือดต่างอิจฉาตาร้อนไปตามๆกัน

วันนี้จบแบบวิชาการนิดๆ และนาทีนี้คงยังเร็วเกินไปที่จะ ทำนายว่า สกู้ปปี้ และเจลาโต จะทำยอดขายได้เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ แต่เท่าที่ได้เห็นจากที่ฮอนด้าไปเปิดบูธที่โลตัสใกล้ๆบ้านของอ้วนซ่า ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครตื่นเต้นกับรถสกู้ปปี้เท่าใดนัก อาจจะคิดว่ามันเป็น ฟีโน่ เจ้าเก่าก็ได้กระมัง

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

Mitsubishi Triton ดีไซน์แหวกแนว แถมความคุ้ม


**จากคอลัมน์ป้ายแดง ชวนขับ อาทิตย์ที่ 4 ตุลา 2009 **

ในมุมมองด้านการออกแบบ ผมมีความเชื่อมั่นอยู่ประการหนึ่งว่าผู้ที่ซื้อรถไทรทันรุ่น พลัส มีมุมมองการใช้งานแตกต่างไปจากกลุ่มลูกค้าแบรนด์อื่นพอสมควร เพราะไม่ว่าวัดกันมุมใดก็ตามรถรุ่นนี้ดูจะสามารถเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้งานในรูปแบบ “ยานยนต์เอนกประสงค์ของคนรุ่นใหม่” เริ่มต้นด้วยรูปลักษณ์ที่ปฏิวัติการออกแบบไปจากคู่แข่งอย่างหน้ามือหลังมือ ไทรทันให้มุมมองของรถยนต์ที่โฉบเฉี่ยว เฉียบคม แบบรถสปอร์ตทั้งภายนอกและภายใน สอดคล้องกับชีวิตและกิจกรรมกลางแจ้งที่โลดโผน (แต่ไม่โจนทะยานนัก เพราะไม่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ) อาทิ แค้มพ์พิ้ง เจ็ทสกี โมโตครอส จักรยานเสือภูเขา ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งให้ภาพลักษณ์การขับรถรุ่นนี้ก็ดูแตกต่างจากภาพของรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่นิยมการใช้เส้นเหลี่ยมแข็ง บึกบึน เหมือนคนเล่นกล้ามอยู่มาก

อีกส่วนที่มีผลมากต่อการตัดสินซื้อของผู้บริโภครุ่นใหม่ก็เห็นจะหนีไม่พ้น “การออกแบบภายใน และอุปกรณ์ด้านความบันเทิง” จุดนี้ไทรทันทำคะแนนได้สวยเนื่องจากมาพร้อมจอภาพแอลซีดี และเครื่องเล่นดีวีดี สำหรับดูหนังฟังเพลงให้ความบันเทิงสำหรับทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าโดนใจคนรุ่นใหม่กันไป จะขาดอยู่ก็แต่ระบบนำทางด้วยดาวเทียม หรือไม่ก็อ้อฟชั่นที่ถูกใจวัยมันส์ของวันนี้อาทิ วิทยุแบบที่ควบคุมเครื่อง “ไอพอด หรือ ไอโฟน” ได้ ซึ่งถ้าแถมมาให้ด้วยรับรองว่า “จี้ด” กว่านี้อีกเยอะ

การเปลี่ยนแปลงต่างๆส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพราะทรงรถเดิมนั้น “หล่อ” พอตัวอยู่แล้ว หลักๆก็เห็นจะเป็นกระบะท้ายที่ปลายไม่ “ลาด” ลงเหมือนรุ่นดั่งเดิม ทำให้รถดูขึงขังขึ้นพอควร กระจังหน้าใหม่ลายรังผึ้งที่มาพร้อมกับกันชนทรงสปอร์ต ให้ความรู้สึกดุดันเฉียบคมกว่ารุ่นเดิมมาก ส่วนด้านภายในนั้น มิตซูบิชิ ไทรทันคันที่ทดสอบมาพร้อมเบาะผ้าลายใหม่ ซึ่งดูดีพอสมควร ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะลายจุดที่ใช้น่าจะช่วยอำพรางคราบเลอะได้ แต่ตรงจุดนี้ในเมื่อถูกออกแบบให้เป็นรถกิจกรรมเอนกประสงค์ก็น่าจะมาพร้อมกับเบาะที่ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่กลัวเลอะมากกว่าเบาะผ้า ส่วนด้านงานพลาสติกที่ใช้ในมุมมองส่วนตัวผมยังคิดว่าดู “แข็งกระด้าง” ไปบ้างซึ่งหากปรับปรุงจุดนี้ได้จะทำคะแนนได้ดีกว่านี้มาก อีกหนึ่งการปรับปรุงที่น่ายินดีก็คือ การเลิกใช้หน้าปัดสีฟ้า หันกลับมาใช้หน้าปีดสีดำแบบธรรมดา แม้ว่าจะดูสปอร์ตน้อยลงแต่ทัศนวิสัยดีขึ้นและบุคลิกโดยรวมดูมีคลาสขึ้น เรียกได้ว่าตัดสินใจไม่ผิด ส่วนล้ออัลลอยด์ลายใหม่นั้นว่ากันตามตรงก็ยังไม่รู้สึกว่าใหม่แต่อย่างใด น่าจะปรับให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดตามสมัยนิยมน่าจะดูดีไม่น้อย

สรุปในด้านการออกแบบ ไทรทัน ยังคงเป็นรถที่ดูสปอร์ต และน่าจะโดนใจ “หนุ่มสาวรุ่นใหม่” ที่มองหารถเพื่อกิจกรรมเอนกประสงค์ ที่เน้นให้หล่อทั้งในเมือง และลุยได้พอสมควรเมื่อต้องการ ด้วยค่าตัว และค่าบำรุงรักษาและการบริโภคเชื้อเพลิงที่เบากว่ารถเอสยูวีรุ่นต่างๆอยู่เยอะ ทำให้การเป็นตัวเลือกครั้งนี้ดูจะไม่เลวทีเดียว ติดอยู่ก็แต่การทำการตลาดและการสื่อสารไปสู่ผู้บริโภคภายใต้กระแสเชี่ยวกรากของการโหมรุกของสองค่ายใหญ่นั้นหินจริงๆครับ

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

อนาคตเพชรยอดมงกุฏเม็ดใหม่ของบีเอ็มดับเบิ้ลยู!






หากจะกล่าวถึงซีรี่ย์และรุ่นรถต่างๆของค่ายบีเอ็มดับเบิ้ลยูในปัจจุบัน พบว่ามีความหลากหลายและตอบโจทย์สำหรับตลาดรถระดับพรีเมี่ยมได้เกือบจะครบทุกเซ็คเม้นท์ (Segment) ของตลาด โดยเริ่มตั้งแต่รุ่นจิ๋วอย่าง มินิ คูเปอร์ ไปจนถึงรุ่นซีดานรุ่นสุดหรู 6 ดาว (ขอยืมดาวของคุณ อ้วนซ่ามาใช้ซักหน่อย) อย่าง โรลส์รอยซ์ แฟนธอม เรียกได้ว่าค่ายบีเอ็มดับเบิ้ลยูมีทุกสิ่งให้เลือกสรรค์

อ่ะ! ช้าก่อน ที่ว่าครบน่ะจริงหรือ? ใช่ครับหากท่านเป็นแฟนพันธ์แท้รถหรู ท่านจะตอบได้ทันทีว่า บีเอ็มดับเบิ้ลยู ไม่มีรถซุปเปอร์คาร์ ไว้เทียบรุ่นกับค่ายอื่นๆเขาครับ โดยซุปเปอร์คาร์คันสุดท้ายของบีเอ็มดับเบิ้ลยูก็คือรุ่น เอ็มวัน (M1) ซึ่งเลิกทำรถแบบนี้ไปนานกว่า 30 ปี ส่วนที่เหลือก็เป็นรถยนต์ตระกูล เอ็ม ต่างๆของบีเอ็มดับเบิ้ลยูที่นำเอารถเก๋งรุ่นต่างๆมาปรับปรุงจนมีสมถรรนะสูงล้ำขั้นเทพ แต่แม้จะเจ๋งในแง่การขับขี่แต่รถรุ่น เอ็ม ก็ยังขาด อิมเมจ ของซุปเปอร์คาร์แท้ๆ ทำให้บีเอ็มดับเบิ้ลยูต้องนั่งคิดเรื่องนี้อยู่นานสองนาน ถึงการหวนกลับมาสร้างซุปเปอร์คาร์เพื่อเสริมบารมีในฐานะเพชรยอดมงกุฏของบริษัท

หากท่านยังจำภาพของเจ้าปีศาจสีส้ม เอ็มวัน โฮมเมจ (M1 Homage) ที่แอบจอดหลบมุมอยู่ในบูธของบีเอ็มดับเบิ้ลยูในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาได้ นั่นก็เป็นภาพแรกของซุปเปอร์คาร์จากค่ายใบพัดฟ้าขาว ซึ่งการพบกันครั้งแรกพบว่ารถคันนั้นมีบุคลิกภาพหน้าตา โหด หล่อ เท่ห์สมกับเป็นซุปเปอร์คาร์ทุกประการ จะติดอยู่ตรงที่รายละเอียดของเส้นสายที่ “เว่อร์” หรือที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า “ดรามาติค” (Dramatic) แบบรถโชว์ไปนิด แต่ภายในปีเดียว บีเอ็มดับเบิ้ลยูก็ได้ออกเวอร์ชั่นยั่วน้ำลายออกมาให้เราได้ชม ภายใต้ชื่อ “วิชั่น เอฟฟิเชียนท์ไดนามิค คอนเซ็ปท์” (Vision EfficientDynamics Concept)

ความเว่อร์ของรายละเอียดในรถต้นแบบคันล่าสุดนี้ทำให้รุ่น เอ็มวัน โฮมเมจ ดูพับเพียบเรียบร้อยไปถนัดตา แถมยังเพียบด้วยรายละเอียดหวือหวาแบบรถโชว์ที่หากอ่านในรายละเอียดที่ทางบีเอ็มดับเบิ้ลยูจัดให้เรียกได้ว่าเยอะจัด อ่านกันมึน ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาอากาศพลศาสตร์มาใช้แบบถึงกึ๋น โดยรถคันนี้มีค่าต้านอากาศต่ำสุดๆเพียง 0.22 เท่านั้น หรือ จะเป็นเทคนิคการประกอบแบบใหม่ รวมไปถึงเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบดีเซลไฮบริดพลังสูงที่ทำได้ทั้งแรงสุดๆ หรือจะประหยัดสุดๆก็ย่อมได้ (แต่ไม่ได้ทำได้พร้อมๆกันนะครับ) แถมด้วยของแปลกก็คือแม็ก 21 นิ้วที่จับคู่กับยางหน้าแคบพิเศษเพื่อลดแรงเสียดทาน แต่หากมองให้ลึกๆเราสามารถจะพบภาพของอนาคตของซุปเปอร์คาร์แนวคิดใหม่จากบีเอ็มดับเบิ้ลยูที่สืบทอดมาจาก เอ็มวัน โฮมเมจได้กระจ่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่สิ่งที่สามารถที่จะเป็นจริงได้!

ภาพรวมก็คือ ซุปเปอร์คาร์เครื่องวางกลางลำขนาดสูสีกับ แลมโบกีนี่ เมอร์เซียลลาโก ที่เชื่อได้ว่า หากลองลบรายละเอียดหวือหวารุงรังออกไป นี่ก็คือ ซุปเปอร์คาร์ที่มีสัดส่วนสวยงามลงตัวที่สุดคันหนึ่ง เริ่มที่ใบหน้าอันหล่อเหลาคมคาย ไปจนถึงเอาท์ไลน์ด้านข้าง และรูปทรงของไฟท้ายรวมไปถึงรายละเอียดทางอากาศพลศาสตร์บางส่วน ที่เชื่อได้ว่าใกล้เคียงกับรถโปรดักชั่นมาก แถมด้วยทีเด็ดการเป็นรถสี่ที่นั่ง! ซึ่งไม่มีใครเหมือน (ในอดีตเคยมีรถแบบนี้เช่นกัน คือเฟอร์รารี่ มองดิอัล(Ferrari Mondial))

การกลับมาของซุปเปอร์คาร์จาก บีเอ็ทดับเบิ้ลยู ไม่ได้มาแบบธรรมดาๆ แต่อัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนอาจจะเรียกได้ว่านี่อาจจะเป็นเซ็กเม้นท์ใหม่ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์กรันตูริสโม” (Super Gran Turismo) หรือลูกผสมระหว่างรถจีที กับซุปเปอร์คาร์เครื่องกลางลำ ผมแทบจะรอวันที่ บีเอ็มดับเบิ้ลยู วิชั่น เอฟฟิเชียนท์ไดนามิค คอนเซ็ปท์ ลอกคราบของคอนเซ็ปท์คาร์ ออกจนกลายเป็นรถยนต์จริงๆไม่ไหว เพราะการกลับมาหลังจาก 30 ปีของตำนานอย่าง เอ็มวัน นั้นมันต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆสำหรับ บีเอ็มดับเบิ้ลยูแน่นอนครับ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

บูกัตติ กัลลิบิเยร์ 16 ซี เก๋งระดับ 7 ดาว!





หากจะกล่าวถึงเก๋งหรูระดับ 5 ดาว ชื่ออย่าง เล็กซัส, แจกกวาร์, บีเอ็มดับเบิ้ลยู, หรือ เมอร์ซีดีส เบนซ์ นั้นคงจะคุ้นหน้าคุ้นตาด้วยมาตรฐานความหรูหราและสมรรถนะที่เหล่าผู้บริหารต่างให้การยอมรับ แต่สำหรับในโลกนี้ที่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือก้อนเมฆยังมีเครื่องบินแล้ว ยังมีผู้ที่แสวงหาความเป็นที่สุดที่ไม่สบอารมณ์ที่พบว่ามี รถเบนซ์เอสคลาสป้ายแดงจอดกันให้พรึ่บในลานจอดของสยามพารากอน นั่นก็เป็นที่มาของแบรนด์ระดับอัครยานยนต์อย่าง เบนท์ลีย์ มุลซานเน่ (Bentley Mulsanne), โรลส์รอยซ์ แฟนทอม (Rolls Royce Phantom) หรือหากชอบแนวสปอร์ตขับมันส์ ก็ยังรถอย่าง แอสตันมาร์ติน ราพีเด ( Aston Martin Rapide), พอร์ช พานาเมร่า (Porsche Panamera) และ มาเซอราตี ควอทโตรปอร์เต้ (Maserati Quatroporte) ที่ออกผลิตภัณฑ์ออกมาเติมเต็มความฝันของเหล่า เทพ กัน เพราะทั้งสมรรถนะและราคาแต่ละคันนั้นเรียกได้ว่า สูงล้ำดั้นเมฆระดับ 6 ดาว! เพราะสำหรับรถเหล่านี้บางคันต้องถึงกับเรียกว่าในล้านคน อาจมีได้แค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นเจ้าของได้!!!

แต่ช้าก่อน! ยังมีคนที่ไม่อยากจะเป็นคนที่เราอยากจะเรียกว่า หนึ่งในล้าน เพราะท่านลองคิดดูดีๆ ถ้าเป็นหนึ่งในล้านคน ก็แสดงว่าในประเทศขวานทองของเรานี้ก็ต้องมีคนระดับเดียวกันถึง 70 คนเชียวหรือ!!! การขับของโหล ( 70 คันมันเกือบ 6 โหลเชียวนะท่าน) มันย่อมไม่สบอารมณ์อภิโคตรมหาเศรษฐีเท่าไรนัก ดังนั้นก็เลยมีบางแบรนด์ที่ออกมาสนอง อีโก้ ของท่านเหล่านั้นด้วยการออกผลิตภัณฑ์ระดับ 7 ดาว ที่อยากจะแนะนำให้ท่านได้รู้จักกันในวันนี้ก็รถยนต์ที่ฉลองครบรอบ 100 ปี ของบูกัตติ บูกัตติ กัลลิบิเยร์16 ซี นั่นเอง รถยนต์ที่ผมไม่กล้าจะถามราคา

ชื่อที่แสนออกเสียงยากของมันนั้นมาจากชื่อของช่วงที่แสนท้าทายของการแข่งขันจักรยาน ตูร์ เดอ ฟร์องซ์ (Tour De France) รูปลักษณ์ของ กัลลิบิเยร์16 ซีนั้นสืบทอดทรงของรุ่น ไทพ์ 57 แอตแลนติค (Type 57 Atlantic) จากยุค 1930 ที่เป็นทรงหน้ายาว ท้ายลาดมน และโดดเด่นด้วยตัวถังสองสี ซึ่งในรุ่นกัลลิบิเยร์16 ซี สีเงินนั้นมาจากอลูมิเนียมขัดมันจนเงาเหมือนกระจก ส่วนพื้นที่สีน้ำเงินนั้นไม่มีการรองพื้นเหมือนรถทั่วๆไป แต่เป็นพื้นสีน้ำเงินที่ใสจนมองเห็นลวดลายคาร์บอนด์ไฟเบอร์ที่สานอย่างงดงาม เรียกได้ว่าอวดงานฝีมือสุดเนี้ยบอย่างเต็มที่ (การนำรถคันนี้ไปจอดห้างไหนคงต้องจ้างยามมาเฝ้าไม่ให้ใครเดินเฉียด และการล้างรถคงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสไม่ใช่เล่นๆ เพราะขนแมวดูจะมาเยือนได้ไม่ยากเลย)

การเป็นรถยนต์ระดับ 7 ดาวแน่นอนสมถรรนะต้องสุดๆ เพราะชื่อ 16ซี นั้นมาจากจำนวนกระบอกสูบ 16 สูบของมัน แต่การเป็นเป็นรถระดับ 7 ดาวก็ใช่ว่าจะไม่เหลียวแลเรื่องสภาพแวดล้อม เพราะบูกัตติแจ้งว่ารถคันนี้สามารถบริโภคเอทธานอลได้ด้วยขอรับ (อาจจะไม่ได้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เอทธานอลล้วนๆมันแรงแซ่บอีหลีแท้ๆ) การออกแบบภายในก็นับว่าหรูเริ่ดล้ำด้วยการออกแบบที่เรียบง่ายและสง่างาม ตัดรายละเอียดวุ่นวายออกจนราวกับเป็นห้องนั่งเล่นที่บุด้วยหนังจากกระเป๋าแอร์เมส ส่วนท่านที่ไม่อยากจะแยกจากรถคันงามของท่าน ไม่ต้องกลัวครับ เพราะบูกัตติเค้าร่วมกับ แบรนด์หรูอย่าง พาร์มิจิอานี (Parmigiani) ทำหน้านาฬิกาฝังหน้าปัดรถที่สามารถถอดออกมาใส่เป็นนาฬิกาข้อมือได้ด้วย และที่สำคัญนาฬิการุ่นนี้มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้เพราะต้องซื้อรถก่อนนะขอรับถึงจะมีได้ ถ้าเจอใครใส่นาฬิการุ่นนี้มาก็รู้ได้เลยนะครับว่าเขาคนนั้นน่ะ หนึ่งในสิบล้านครับ

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

โอ้วววววววว บทความปีกว่าๆ เยอะขนาดนี้เชียว

กว่าจะ upload หมดเล่นเอาเมื่อย รู้งี้ทำมาตั้งนานแล้ว
อ่านๆไปก็เหมือนเข้า time machine เพราะหลายๆเรื่องก็มองผิดไปเยอะเหมือนกันนะเนี่ยเรา

ติดตามอ่านตอนใหม่ๆได้ทาง เดลินิวส์ ทุกวันอาทิตย์นะครับ

ฉลามบุก!


สวัสดีวันอาทิตย์กับท่านผู้อ่านที่รักอีกครั้ง และขอแสดงความยินดีกับแฟนๆของค่ายมิตซูบิชิที่การรอคอยอันแสนยาวนานนั้นได้สิ้นสุดกันเสียทีกับการมาถึงของเจ้าฉลาม นิวแลนเซอร์ อีเอ็กษ์ (Lancer EX) ในวันที่ 15 กันยายนนี้

แม้ว่าจะออกมาวาดลวดลายในเวทีโลกมากว่าสองปีแล้วในฐานะผู้สืบทอดสายพันธ์รุ่นที่ 8 นับตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมาซึ่งนับเวลาที่เรารู้จักชื่อนี้มาก็นับได้กว่า 36 ปี ถ้าเป็นคนก็นับได้ว่าเป็นหนุ่มใหญ่มากประสบการณ์คนหนึ่งแล้วทีเดียว และหากจะว่าไปแลนเซอร์รุ่นที่ 8 นี้ก็เป็นหนึ่งในแลนเซอร์ที่ดูแจ่มแจ๋วที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ว่าได้ ด้วยรูปลักษณ์ที่ฉีกแนวรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าทั่วๆไป ที่นิยมแนวการออกแบบที่เรียกว่า “แค้บฟอร์เวิร์ด” (Cab Forward) ที่มีฝากระโปรงหน้าสั้นๆและห้องโดยสารยาวๆ ไปสู่การออกแบบที่ดูเผินๆ(ถ้าไม่ติดตรงโอเวอร์แฮงค์หน้าที่ยาว) ราวกับเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังเสียด้วยซ้ำไปเพราะแลนเซอร์ใหม่นี้มีฝากระโปรงหน้าที่ยาวดูดุดันได้ใจ สมกับฉายาที่คนรถทั้งหลายเรียกมันว่า “หน้าฉลาม” เป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าท่านที่เคยเป็นแฟนรถยนต์ยี่ห้ออื่นมาตลอด คราวนี้คงต้องหันมาลองรถค่ายมิตซูบิชิดูบ้างแล้ว ส่วนเรื่องเครื่องยนต์แน่นอนว่าถ้ารูปลักษณ์ดูเปรี้ยวขนาดนี้คงไม่ให้เครื่องยนต์ “ติ๋มๆ” แน่นอน ดังนั้นแลนเซอร์ใหม่จะมาพร้อมเครื่อง 1.8 และตามด้วย 2.0 รับประกันว่า ไม่สวยแต่รูปจูบไม่หอมแน่ๆ พร้อมซะขนาดนี้ อัวนซ่า ขอฟันธงว่าได้เห็นปรากฏการณ์ยอดจอดถล่มทลายแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ มาสด้า 3 และซีวิค เอฟดี หวนมาหาค่ายมิตซูบิชิอีกครั้งหลังจากที่ไม่มีอะไรตื่นเต้นมานาน เอาใจช่วยนะครับ

เรื่องสนนราคานั้นยังอุปเงียบ แต่มิตซูบิชิยังมีทีเด็ด ด้วยการอุดช่องว่างรถยนต์ขนาดเล็กที่ตัวเองไม่มีมาเปรียบมวยกับ รถอย่าง ฮอนด้า ซิตี้ หรือโตโยต้า วิออส ด้วยการนำเอาแลนเซอร์ หรือเจ้า ซีเดีย โฉมที่แล้วมาปรับราคาขายกันใหม่ เรียกได้ว่างานนี้ชนกับรถเล็กๆจากสองค่ายดังอย่างจัง ด้วยหมัดเด็ดของมิตซูบิชิคือ ราคาเบาๆ กับ ขนาดตัวที่ใหญ่กว่าเห็นๆ พร้อมกับความประหยัดแบบสุดๆ จากการใช้ เครื่อง 1.6 ที่บริโภคน้ำมัน E20 ร่วมกับระบบแก๊ส ซีเอ็นจี เรียกได้ว่าใครอยากได้ของดีราคาถูกเชิญทางนี้ได้เลยเพราะงานนี้ เขาขายกันที่ 5.9-6.8แสนเท่านั้น ถ้าไม่กังวลว่าจะต้องใช้รถโฉมล่าสุด การเลือกมิตซูบิชิ แลนเซอร์ 1.6 ซีเอ็นจี นับว่า คุ้มสุดจะคุ้ม เพราะห้องโดยสารนั้นโออ่ากว่า นั่งสบายกว่ารถเล็กของอีกสองค่ายอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าหน่วยงานใดต้องการได้รถมาใช้งานเป็นรถประจำองค์กร หรือใช้เป็นรถครอบครัว ตัวเลือกนี้รับรองไม่มีผิดหวัง คอนเฟิร์ม!

แนวรุกใหม่จากมิตซูบิชิ คราวนี้เฉียบคมยิ่ง เพราะบุกครั้งเดียวเล่นถึงสองตลาด และต้นทุนการแข่งขันก็ยังต่ำเสียด้วย เจ้ายุทธภูมิเดิมเห็นทีจะหายใจไม่คล่องคอเป็นแน่ งานนี้สนุกครับมิตซูบิชิจะกลับมาผงาดอีกครั้งได้หรือไม่ศึกครั้งนี้ชี้ชะตาครับ

แสงสว่าง(ลิบๆ)ที่ปลายอุโมงค์



สวัสดีวันอาทิตย์กับเรื่องราวสาระยานยนต์ไปกับผม อ้วนซ่า แอบซิ่ง อีกครั้งนะขอรับ ทุกวันนี้แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะเป็นอย่างไรแต่ก็ดูเหมือนพี่น้องชาวไทยก็ “ชาชิน” กับน้ำมันราคาแพงกันถ้วนหน้า ราคาน้ำมันในบ้านเราที่แม้ว่าจะเทียบกับประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันก็ไม่ได้สูงกว่าเรียกได้ว่า สูสีกับอเมริกา แถมหากอุตริไปเทียบกับแถวยุโรปที่แพงกว่าบ้านเราเป็นเท่าตัวด้วยแล้วก็ยังต้องบอกว่าราคาบ้านเราไม่แพง แต่หากมองกันตามจริงรายได้ของคนในบ้านเรา “ต่ำ” กว่ายุโรป หรืออเมริกาอย่างไม่รู้จะเทียบกันได้อย่างไรก็เลยเป็นที่น่าสงสัยว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน

ดังนั้นการหาพลังงานทางเลือกก็ดูจะเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นตราบใดที่เรายังคงต้องเดินทางไปไหนมาไหนไกลกว่าเท้าเดิน หรือปั่นจักรยาน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์เจ้าไหนไวกว่าก็ดูเหมือนจะฉกชิงความได้เปรียบตรงนี้ไว้ได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ไฮบริด ลูกผสมน้ำมันกับไฟฟ้า ซึ่งค่าย โตโยต้าเป็นผู้นำร่องในประเทศไทยในขณะนี้ หรือจะเป็นกลุ่มที่เน้นความประหยัดจากการใช้แก๊สซีเอ็นจี หรือที่รู้จักกันดีชื่อ เอ็นจีวี ซึ่งดูจะมีให้เลือกพอสมควรเริ่มตั้งแต่รถหรูอย่าง เมอร์เซเดส เบนซ์ อีคลาส เอ็นจีที, รถครอบครัวอย่าง เชฟโรเล็ท ออปตร้า, มิตซูบิชิ แลนเซอร์, โปรตอน เพอร์โซนา ซึ่งคาดว่าจะมีทยอยกันออกมาอีกรุ่นสองรุ่นในเร็ววัน, รถกระบะที่จริงจังก็เห็นอยู่เจ้าเดียวคือ ทาทา ซีนอน ส่วนค่ายที่ตกลงปลงใจไปกับน้ำมันแบบแก๊สโซฮอล์ E85 หลักๆก็เห็นเพียง วอลโว่ ซึ่งค่าตัวก็นับว่าแพงโข จะซื้อมาเพื่อประหยัดก็ดูพิลึกๆเหมือนเป็นเศรษฐีแต่กลัวค่าน้ำมันดูไม่สมเหตสมผล และท้ายสุดก็คือค่ายที่หันไปจับมือกับเทคโนโลยีเครื่องดีเซล อย่างบีเอ็มดับเบิ้ลยู และฟอร์ด ซึ่งก็ได้รับความสนใจในระดับที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากจะประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องยนต์เบนซินแล้วยังได้พลังกำลังเร่งแซงที่ถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณ กว่ารถเบนซินเดิมๆอีกเยอะ

ในอนาคตอันใกล้ดูเหมือนเราอาจจะมีทางเลือกใหม่ๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่ไม่ง้อน้ำมัน อย่างนิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) ที่มาพร้อมกับระบบไฟฟ้าล้วนๆเต็มระบบ ซึ่งถ้าจะเป็นไปได้ในการทำตลาดก็คงต้องร่วมมือกับภาครัฐในการวางสาธารณูปโภคในเรื่องของสถานีจ่ายไฟฟ้า ซึ่งจะว่าไปก็ง่ายกว่าการทำปั้มแก๊สเอ็นจีวีอยู่โข แต่ก่อนจะนำรถไฟฟ้าอย่าง ลีฟเข้ามา นิสสันขอชิงเปิดตลาดรถแนวประหยัด อีโคคาร์ไปก่อนกับ รถรุ่นมาร์ช (Nissan March) ที่แหล่งข่าวยืนยันแล้วว่า ลุยแน่ๆ ส่วนรายสุดท้ายก็เห็นจะเป็นค่ายมิตซูบิชิก็ได้ฤกษ์พร้อมจะคลอด แลนเซอร์ใหม่กันเสียทีโดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.8 และ 2.0 ลิตร และคราวนี้มาพร้อมกับจุดเด่นที่สามารถเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้ในเครื่องยนต์ขนาด 1.8 เรียกได้ว่า ตอบโจทย์คนรักประหยัดได้ลงตัว เพราะราคารถเองก็น่าจะได้เปรียบกว่าคู่แข่งเนื่องจากแต้มต่อด้านภาษีสรรพสามิต ซึ่งแม้ว่าน้ำมันเองจะมีสมรรถนะด้อยกว่าน้ำมันแก็ซโซฮอล์ อี10 หรืออี20 อยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการอะไรปรู้ดปร้าดก็ดูเป็นทางเลือกที่เหมาะเจาะ

แสงสว่างที่ปลายทางลิบๆ ดูเหมือนจะใกล้เข้ามาทุกที หลังจากที่ต้องคอยลุ้นว่า ไก่กับไข่อะไรมันจะต้องเกิดก่อนกัน ปล่อยให้เราๆท่านๆก็ต้องกล้ำกลืนไปกับเรื่องไก่ๆไข่ๆกันไปเสียนาน