วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

L.A. Design Challenge วิสัยทัศน์ หรือ ทางตันที่ยังหาทางออกไม่ได้







คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ดินแดน หรือ พื้นที่ใดบนผืนโลกใบนี้ที่เหล่านักออกแบบรถยนต์ระดับมืออาชีพเขาใช้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลงานแห่งอนาคต หรือจะพูดกันให้ง่ายๆว่าที่ๆเขาทำมาหากินกันส่วนใหญ่อยู่ที่ใดในโลก (คล้ายๆกับจะถามว่า เสือเบงกอล นั้นพบมากที่ใดในโลกนั่นแหละ) คำตอบนั้นไม่ยากเลยครับ พื้นที่นั้นก็คือ มหานคร ลอส แองเจลลิส หรือ แอลเอ จังหวัดที่ 77 ของพี่น้องชาวไทยนั่นเอง
ในเมืองแอลเอ นั้นว่ากันว่ามีประชากรของ นักออกแบบรถยนต์อาชีพหนาแน่นที่สุดในโลกครับ ด้วยปัจจุบันนับคร่าวๆก็จะพบสตูดิโอออกแบบของบริษัทต่างๆอยู่รวมกันก็กว่า 14 บริษัทเข้าไปแล้ว ทั้งบริษัทอเมริกัน ยุโรป และเอเซียต่างก็ยึดพื้นที่เป็นแหล่งพัฒนารถยนต์แห่งอนาคตกันทั้งนั้น เพราะเนื่องจากมีข้อดีนานัปประการ ไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศที่แจ่มแจ๋วตลอดปี อาหารการกินที่หลากหลาย ประชากรหลากเชื้อชาติในแบบฉบับมหานครที่แท้จริง และที่สำคัญที่สุดคือ แอลเอ นั้นเป็นที่ตั้งของสถาบัน Art Center College of Design (อาร์ต เซ็นเตอร์ คอลเลจ ออฟ ดีไซน์) ซึ่งเป็นสถาบันที่เหล่านักออกแบบชื่อดังของโลกส่วนใหญ่เริ่มต้นชีวิตการออกแบบที่นี่กัน (ผมเคยมีโอกาสได้เขาเยี่ยมชมสถาบันนี้ครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับถึงความเข้มข้น เคี่ยวกรำของหลักสูตร และความมุ่งมั่นของผู้เรียน ที่ใจเกินร้อยไปหลายร้อยอยู่ เรียกได้ว่า ใครไม่สู้ก็ให้หลบไปไกลๆ เพราะงานหนักเกินจินตนาการ เด็กประเภทลูกแหง่ เรียนไม่ได้เด็ดขาด ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ซึ่งสามารถเรียกตัวเองได้ว่า จบ จากสถาบันนี้จะภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง หากจะเรียกก็อาจจะเรียกได้ว่า นี่คือ ฮาร์วาร์ด ของโลกยานยนต์นั่นเอง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งก็พยายามฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อที่จะได้บรรลุในเคล็ดวิชาจากที่นี่อยู่บ้างเหมือนกัน)
ดังนั้นในเมื่อ แอลเอ เป็นเหมือนดั่งเบ้าหลอมของนักออกแบบ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทุกๆปีจะมีการจัดงานประชันวิสัยทัศน์ระหว่างสตูดิโอออกแบบของค่ายรถต่างๆ ซึ่งต่างจากบ้านเราที่เป็นเพียงการประชันกันของเหล่านิสิต นักศึกษา แต่ที่อเมริกานั้นบริษัทเป็นผู้ส่งเข้าประกวด โดยในปีนี้มีอยู่ด้วยกัน 6 สตูดิโอ คือ ค่ายโตโยต้า ฮอนด้า มาสด้า เอาดี้ จีเอ็ม และ นิสสัน ร่วมกันส่งแนวคิดเข้าประชันกันในหัวข้อ “Youthmobile 2030” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆได้ว่า “ยนตรกรรมหนุ่มสาวยุค 2030” รายละเอียดก็คือ ขอให้แต่ละสตูดิโอนั้น “คิดค้นหายานยนต์ที่จะสอดคล้องกับวิถีแห่งหนุ่มสาวในอนาคตผู้ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นกับวัฒนธรรมดิจิตอลและชีวิตออนไลน์ ซึ่งแต่ดั้งเดิมยานยนต์นั้นนอกจากจะทำหน้าที่เป็นยานพาหนะและยังทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนของสื่อสารบุคลิกภาพของผู้ขับขี่ แต่ปัจจุบันและอนาคตตบทบาทของสื่อดิจิตอลต่างๆกำลังเบียดบังความสำคัญของยานยนต์ไป” โจทย์ฟังดูแล้วหินไม่ใช่เล่น เพราะสุดท้ายแม้ว่าแต่ละสตูดิโอดังจะนำเสนอผลงานแนวคิดต่างๆกันไป โดยส่วนตัวผู้เขียนก็ยังคิดว่า คำตอบเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถต้านทานกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตดิจิตอลได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่ว่ายานยนต์จะเปลี่ยนร่าง แปรรูปได้ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งบทบาทเดิมๆของการเป็นยานพาหนะอยู่ดี ยังไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เหมือนว่ากว่าจะมีผู้ขบปัญหาเหล่านี้แตกคงยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี
โลกอนาคตของยานยนต์ภายใต้บริบทของการคุกคามจากโลกดิจิตอล ยังคงต้องติดตามดูกันไปครับ คำตอบยังไม่เฉลยซะทีเดียว
(สนใจข้อมูลของ แอลเอ ดีไซน์ ชาเลจน์ และข้อมูลของรถแต่ละคัน ติดตามชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.carbodydesign.com/archive/2009/11/la-design-challenge-2009/ )

ไม่มีความคิดเห็น: