วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

2 Getthere ต้นแบบของยานยนต์ไร้คนขับแห่งอนาคต





คุณอาจจะเคยชมภาพของเมืองแห่งอนาคตจากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์โลกอนาคตจากฮอลลิวู้ดมาแล้วหลายๆเรื่อง และอาจได้เห็นจินตภาพของยานยนต์ไร้คนขับที่โลดแล่นไปบนถนนที่คับคั่งแต่กลับไร้ซึ่งอุบัติเหตุด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า คอมพิวเตอร์ไม่มีความ “ประมาท” เหมือนมนุษย์ ซึ่งถ้าหากให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานรับรองว่าเรื่อง “เมาแล้วขับ” นั้นตัดไปได้เลยเพราะคอมพิวเตอร์ไม่ดื่มแน่ๆ
มาบัดนี้จินตนาการจากนิยายวิทยาศาสตร์ได้เป็นความจริงแล้วด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลรัฐ อาบูดาบี (Abu Dhabi)แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรต์ ( United Arab Emirate)ในการที่จะสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ปราศจาก คาร์บอน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองที่ว่านี้มีชื่อว่า มาสดาร์ (Masdar City) โดยเป้าหมายของเมือง มาสดาร์ นี้คือภายในปี 2020 นั้นร้อยละ 7 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าจะมาจากแหล่งกำเนิดที่ผลิตขึ้นมาใช้ใหม่ได้ หรือพูดให้ง่ายก็คือ พลังงานนั้นจะไม่ได้มาจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทำกันในทุกวันนี้แต่อาจจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำนั่นเอง
โครงการเด่นของเมืองมาสดาร์อีกโครงการก็คือ ระบบขนส่งบุคคลด่วน หรือ พีอาร์ที (PRT, Personal Rapid Transit) ที่ได้ว่าจ้างบริษัท ทูเก็ตแดร์ (2 Getthere) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานระบบจากประเทศเนเธอร์แลนด์ทำการวิจัยและพัฒนา โดยทำการวิ่งนำร่องในวิทยาเขตของ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมาสดาร์ในรูปแบบของแท๊กซี่ไร้คนขับที่วิ่งกึ่งประจำทางก่อนที่จะขยับขยายออกไปวิ่งในตัวเมืองต่อไป
โปรเจค์ล้ำๆแบบนี้จะให้บริษัทไก่กาทำการออกแบบให้ก็ใช่ที่ งานนี้ตกเป็นของสุดเก๋าแห่งวงการการออกแบบรถยนต์ ที่ทำรถธรรมดาบ้านๆไม่ใคร่จะเป็นเท่าไร ลูกค้าของบริษัทนี้ก็แล้วแต่เป็นของล้ำๆ ไม่ว่าจะเป็น แอสตันมาร์ติน เฟอร์รารี่ มาเซอร์ราตี และสไปเกอร์ ใช่แล้วครับ บริษัทที่ว่านี้ก็คือ ซากาโต้ (Zagato) จากอิตาลีนี้เอง (แต่ซากาโต้เองก็เคยทำยานพาหนะเพื่อมวลชนมาเหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ก็คือ รถรางสุดเจ๋งแห่งเมืองมิลานนั่นเอง)
รถไร้คนขับแห่งอนาคตที่ซากาโต้พัฒนาขึ้นมานี้สามารถโดยสารได้ 6 คน ที่ให้บรรยากาศราวกับนั่งในห้องนั่งเล่นแสนสบาย และวิ่งด้วยพลังจากแบตเตอรี่ ลิเธียมอิออน ที่สามารถวิ่งต่อเนื่องได้ 3 ชั่วโมง และต้องกลับไปประจุไฟฟ้าต่ออีกหนึ่งชั่วโมง วิธีการใช้งานก็แสนสะดวก เพียงผู้โดยสารกดปุ่มเลือกที่หมาย เจ้ายานอัจฉริยะก็จะวิ่งไปยังที่ๆเลือกไว้และเมื่อส่งถึงที่แล้วก็จะกลับมาวิ่งในเส้นทางได้เองอีกครั้ง ส่วนเรื่องของการหลบหลีกอุบัติเหตุก็นับว่าเป็นหนึ่งในทักษะพิเศษของรถคันนี้ เพราะมันสามารถที่จะจับได้ว่ามีวัตถุใดอยู่ด้านหน้าในทิศทางที่จะก่อให้เกิดอันตรายและสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์สั่งการแม้แต่น้อย โดยมันจะจดจำตำแหน่งต่างๆจากจำนวนรอบหมุนของล้อ ประสานเข้ากับการจับตำแหน่งของแม่เหล็กที่ฝังลงไปบนพื้นถนนเพื่อช่วยให้รถสามารถควบคุมทิศทางการวิ่งได้อย่างแม่นยำ (แต่รถคันนี้วิ่งไม่เร็วหรอกนะครับ แค่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น)
คิดดูก็แปลกที่โครงการลดการใช้พลังงานน้ำมัน และลดมลภาวะจะมาเมืองเล็กๆที่มีพลังงานน้ำมันและเงินทองเหลือเฟืออย่างตะวันออกกลาง แต่คิดในทางกลับกันหากไม่ใช่เมืองที่รวยล้นฟ้าและกระหายที่จะทันสมัยอย่าง อาบูดาบี เราก็คงไม่ได้เห็นโปรเจคล้ำๆแบบนี้ และเมื่อหันมามองบ้านเราก็ไม่รู้ว่าอีกนานแสนนานขนาดไหนที่เราจะได้เห็นรถแบบนี้วิ่งในบ้าง เพราะแค่โครงการรถประจำทาง บีอาร์ที (BRT) ที่วิ่งจากสาทร ถึงถนนตก ก็รอกันจนเป็นนิ่วแล้วครับ!

ไม่มีความคิดเห็น: