วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Nouvelle Chinois ฝรั่งเศสตำหรับจีน




หากจะว่าไปถึงวงการอาหารสมัยใหม่ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของอาหารฟิวชั่น (Fusion) ในลักษณะของ ตะวันออกพบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอาหารตะวันตกที่ใช้เครื่องปรุงรสเผ็ดร้อนแบบเอเซีย หรืออาหารเอเซียที่เสิร์ฟอย่างพิถีพิถันมีพิถีรีตรองแบบตะวันตก รวมไปถึงอาหารตำรับที่ใช้ความรู้แขนงใหม่ๆอย่าง ตำรับอาหารโมเลกุล ( Molecular Gastronomy) ที่นำเอาวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์เป็นประสบการณ์แห่งรสชาติที่แปลกใหม่ได้อย่างน่าตื่นจะลึง
ในโลกของยานยนต์ก็เช่นกันจากแต่เดิมที่ศูนย์กลางทางความคิดของยานยนต์นั้นจะอยู่ในประเทศมหาอำนาจยานยนต์เดิมๆไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น แต่ในสหัสวรรษใหม่นี้จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ย้ายฮวงจุ้ยไปตามกาลเวลาและได้เคลื่อนไปสู่ดินแดนของมังกรจีนในที่สุด ดังนั้นหากโลกตะวันตกยังไม่ตระหนักถึงพลวัฒน์นี้ก็อาจจะพบกับคำว่า “สายเกินแก้” ได้ไม่ยาก ผู้ผลิตรถยนต์จากหลายๆค่ายทั่วโลกได้ลงหลักปักฐานในดินแดนมังกรในฐานะ “ตลาดหลัก” ที่บ่อยครั้งขายดีกว่าขายในประเทศต้นตำรับเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น บิวอิค (Buick ) ของค่ายจีเอ็ม ที่ในตลาดอเมริการเหนือนั้นทำยอดขายได้ “งั้นๆ” แต่ในเมืองจีนนั้นได้กลับเป็นแบรนด์ที่หอมหวลสำหรับชาวจีน จากค่ายยุโรปเองเป็นที่แน่นอนว่า จากสภาพตลาดยุโรปที่แทบไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยนิด ตลาดจีนนั้นเป็นแหล่งปล่อยของที่สำคัญที่สุดของหลายๆแบรนด์ อาทิ โฟล์ค เอาดี้ เปอร์โยต และซีตรอง และสำหรับซีตรองนั้นก็ได้รุกคืบไปอีกขั้นด้วยการเปิดศูนย์การออกแบบของตนขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่เสียด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้เข้าใจและเจาะลึกถึงรสนิยมการบริโภคของเศรษฐีใหม่ชาวจีนและออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเสี่ยน้อยเสี่ยใหญ่ได้อย่างตรงประเด็น
ซีตรอง เมทโทรโปลิส ( Citroen Metropolis) เป็นผลผลิตของการสร้างสรรค์ของสตูดิโอออกแบบของซีตรองในเมืองเซียงไฮ้จนได้ออกมาเป็นรสชาติใหม่ระหว่างความโก่ก๋แบบชาวปารีเซียงกับความฟู่ฟ่าของนักการเงินแห่งมหานครเซียงไฮ้ เส้นสายที่ปรากฏอยู่บนรถซีดานแท้ๆขนาดฟูลไซส์ (บอกลาให้กับรูปทรงแบบท้ายลาดที่ใช้กันมากว่า 50 ปี) ที่มีความยาวถึง 5.3 เมตรนี้เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจ เฉียบขาด ในอนาคตที่สดใสด้วยเส้นสายที่เฉียบคมและท้าทายเข้ากับเอกลักษณ์ใหม่ของซีตรองอย่างกระจังหน้าทรง “ว่าว” ได้อย่างลงตัว (บางคนอาจจะมองว่าเหมือน แลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ) และที่ผู้เขียนรู้สึกดีมากๆกับรถคันนี้ก็คือ นี่เป็นหนึ่งรถยนต์ไม่กี่คันที่ หัวหับท้ายดูแล้วสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นหัวมกุฏท้ายมังกร แบบที่เห็นกันจนชาชิน รถคันนี้ได้สลัดแนวคิดของรูปทรงแบบท้าทายสามัญสำนึกแต่ดูละล้าละลังแบบซีตรองเดิมๆออกไปอย่างเต็มตัว และนำเสนอรายละเอียดทางการออกแบบที่ “แพรวพราว” แบบเซี่ยงไฮ้ แต่เปี่ยมไปด้วย “รสนิยม”แบบปารีเซียง
ซีตรอง เมทโทรโปลิส เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า ฟิวชั่น หรือลูกผสมนั้นบางครั้งกลับให้ผลผลิตที่เป็นสากล และกลมกล่อมเหนือกว่า ต้นตำรับพันธ์แท้ก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น: