วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชาละวันจากสตุ้ทการ์ท





พอร์ช (หรือ ปอร์เช่, ตามแอคเซนท์ของผู้ออกเสียง) บริษัทรถยนต์สปอร์ตแบรนด์เก่าแก่จากเยอรมนี ที่คงความเหนียวแน่นในด้านเอกลักษณ์การออกแบบที่เรียกได้ว่าแม้ไม่ใช่แฟนพันธ์แท้ก็สามารถแยก “พอร์ช” ออกจากรถสปอร์ตคันอื่นๆได้อย่างง่ายดายในเดือนนี้ได้เผยโฉมรถรุ่นใหม่ 3 รุ่นด้วยคัน และหนึ่งในนั้นก็คือ รถยนต์สปอร์ตแนวคิดใหม่ เครื่องกลางลำที่มาพร้อมการผสมผสานระหว่างความประหยัด ความสะอาดเข้ากับสมรรถนะการขับขี่ชั้นเลิศด้วยการใช้เครื่องยนต์แบบ 8 สูบขนาด 3.4 ลิตรรอบจัดถึง 9,200 รอบปั่นออกมาได้ 500 แรงม้าผสมเข้ากับระบบไฮบริดแบบแบตเตอรี่ลิเธียมที่สามารถเสียบปลั้กได้ ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการใช้งานที่ความเร็วสูงที่มีมอเตอร์ขับทั้งเพลาหน้าและเพลาหลังที่มีกำลังกว่า 200 แรงม้า ทำให้มีสมถรรนะอัตราเร่งดุดัน 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเวลาเพียง 3.2 วินาที และความเร็วสูงสุดระดับท้ามฤตยู 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งสมถรรนะที่หวือหวานี้ได้รับการยืนยันในอภิมหาสนามทดสอบรถยนต์ เนอเบอร์กริงค์ (Nurburgring) ด้วยเวลาต่อรอบเพียง 7:30 นาที เร็วกว่าพอร์ช คาร์เรรา จีที (Carrera GT) ซึ่งเป็นรถรุ่นท้อปของค่ายพอร์ชเสียด้วยซ้ำไป แต่ทั้งหมดนี้หากขับแบบ “ชิลล์ๆ” ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 70 กรัม/กิโลเมตร และจิบเชื้อเพลิงต่ำเพียง 3กิโลเมตร/100 กิโลเมตร สะอาดและประหยัดว่าอีโคคาร์เป็นไหนๆ นอกจากนั้นยังสามารถวิ่งแบบไฟฟ้าล้วนๆก็ยังได้ไกลถึง 25 กิโลเมตร
รถยนต์สปอร์ตต้นแบบคันใหม่ล่าสุดนี้มีนามกรว่า 918 สไปเดอร์ (สะกดต่างจากคำว่า Spider ที่แปลว่าแมงมุม เพราะคำว่า สไปเดอร์ของรถคันนี้สะกดว่า Spyder ที่มีความหมายถึง รถยนต์สปอร์ตไม่มีหลังคา) รูปทรงของมันนั้นยังคงไว้ซึ่ง ดีเอ็นเอของพอร์ชที่วางเครื่องยนต์แบบวางกลางลำอย่างครบถ้วน ด้วยสัดส่วนที่กระทัดรัด แต่เร้าอารมณ์ และด้วยการนำเอาแรงบันดาลใจจากรถแข่งรุ่นเก๋าที่สร้างชื่อไว้เป็นตำนานอย่างรุ่น 917 รถแข่งเลอมังส์จากยุค 60 ได้แฝงไว้ซึ่งเหลี่ยมสันที่ทำให้ 918 สไปเดอร์ ดู “เหี้ยม” และ “โหด” กว่ารุ่นเครื่องกลางลำแบบ “บ้านๆ” อย่าง บ๊อกสเตอร์ (Boxster) และเคย์แมน ( Cayman) อย่างชัดเจน จนมองเผินๆบางมุมอาจทำให้คิดว่าเรากำลังมองรถสปอร์ตพันธ์ดุจากอิตาลีไปเสียด้วยซ้ำ และหากคนไทยเรียกเจ้าเคย์แมนว่า “จระเข้” ผู้เขียนเห็นทีจะต้องเรียก 918 สไปเดอร์ว่า “ชาละวัน” ให้สมศักดิ์ศรีราชันย์จระเข้เสียหน่อย!
เอกลักษณ์เด่นของรถรุ่นนี้อีกประการก็คือ ช่องดูดอากาศแบบยืดหดได้บริเวณด้านบนของพื้นที่ห้องเครื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการรับอากาศเข้าห้องเผาไหม้แล้วยังรักษาและเพิ่มแรงกดให้กับรถในย่านความเร็วต่างๆได้อีกด้วย
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความมันส์ กับความรับผิดชอบ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้หากเราพยายามที่จะคิดและทำอย่างจริงจัง!

ไม่มีความคิดเห็น: