The Collection of Car Articles from Sunday issue of Dailynews Newspaper by Patrakit Komolkiti ( also known as "อ้วนซ่า แอบซิ่ง"
วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
Honda CR-Z ต้นแบบสปอร์ตแห่งอนาคต?
หากพิจารณารูปโฉมโนมพรรณของเจ้าซีอาร์แซดแล้วต้องยอนรับกันไปเลยว่าเป็นรถที่มีรูปลักษณ์แปลกตาคันหนึ่ง แม้ตอนแรกเมื่อมองจากรูปภาพจะรู้สึกว่ารถรุ่นนี้มีสัดส่วนแปลกๆ ดูหัวใหญ่ ท้ายสั้น แต่หากพบกับตัวเป็นๆแบบสามมิติก็จะเปลี่ยนใจและต้องยอมรับว่านี่เป็นรถที่เก๋ไก๋คันหนึ่งทีเดียว ความประทับใจแรกเห็นจะไม่พ้น กระจังหน้าขนาดใหญ่(มาก)ที่ดูแล้วดุดัน โคมไฟหน้าที่ดูเฉียบคม ส่วนโพรไฟล์(Profile) ด้านข้างนั้นจะเห็นว่ารถเตี้ยกว่ารถซับคอมแพ็คทั่วๆไปมากพอสมควร และถูกเน้นด้วยเส้นสายและองค์ประกอบทางการออกแบบต่างๆที่ ช่วยให้เห็นแล้วรู้สึกว่ารถนั้นพุ่งไปด้านหน้าตลอดเวลา ส่วนด้านท้ายนั้นเป็นทรงลาดแบบฟาสต์แบค (Fast Back) ที่ดูลู่ลมในแบบทรงหยดน้ำซึ่ง อันมีพื้นที่กระจกกินลงมาถึงด้านท้ายรถเพื่อช่วยเรื่องทัศนวิสัย (เอกลักษณ์ดั้งเดิมจากคูเป้รุ่นพี่ ฮอนด้า ซีอาร์เอ็กซ์ (Honda CRX)จากยุค 80 และจากรุ่นอินไซท์ (Honda Insight)) และ สามารถเปิดได้ถึงขอบกันชนด้านบน (แต่ขอบกันชนนั้นอยู่สูงมาก ทำให้การขนสัมภาระที่มีน้ำหนักคงต้องออกเหงื่อบ้างนิดหน่อย) ส่วนด้านไฟท้ายทรงสามเหลี่ยมแบบแอลอีดีนั้นก็ดูเฉียบขาด ส่วนด้านล่างของกันชนหลังนั้นมีการออกแบบให้เป็นแผงดิฟฟิวเซ่อร์ซึ่งมาพร้อมกับไฟตัดหมอกหลังซึ่งดูลงตัวทั้งรูปลักษณ์และประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ ส่วนการเล่นแสงเงาบนตัวถังทำได้ดีดูเป็นสามมิติ ส่งผลให้ซีอาร์แซดเป็นสปอร์ตคอมแพ็คที่สวยงามสะดุดตาคันหนึ่ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าซีอาร์แซดไปได้ฉลุย ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในญี่ปุ่นเกินความคาดหมายของฮอนด้าด้วยซ้ำไป
เมื่อมาพิจารณาภายใน พบว่าได้รับอิทธิพลทางการออกแบบมาจากฮอนด้าซ๊วิค และรถในตระกูลเครื่องยนต์ไฮบริดและไฮโดรเจน (Hybrid& Hydrogen powered) รุ่นต่างๆอย่าง อินไซท์(Insight) และเอฟซีเอ็กซ์ (FCX) อย่างชัดเจน แต่ก็มีการพัฒนาด้านการเลือกใช้รูปทรง, ตำแหน่งของปุ่มควบคุมต่างๆ รวมถึงการผสมผสานวัสดุ, และโดดเด่นด้วยการเน้นแสงสีน้ำเงินเข้มในการส่องสว่างภายในผลลัพธ์นั้นน่าสวยงาม ตื่นตาราวกับได้ขับรถยนต์ที่หลงมาจากโลกอนาคตยังไงยังงั้น และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ไฮบริดจากค่ายฮอนด้าอีกประการก็คือ จอภาพเปลี่ยนสีได้ตามลักษณ์การขับขี่ของผู้ขับซึ่งจะบอกเราว่าเรานั้นขับขี่ได้ “กรีน” (Green) หรือช่วยมลภาวะมากน้อยแค่ไหน โดยหากเราขับขี่แบบดุดันจอภาพจะกลายเป็นสีแดงเข้ม (รถคันที่ทดสอบสามารถไปได้ถึงความเร็วระดับ 190 กิโลต่อชั่วโมง แน่นอนว่าตอนนั้นมาตรความเร็วเป็นสีแดงแปร้ดทีเดียว)และจะค่อยๆกลายเป็นสีน้ำเงินเมื่อผ่อนความเร็วลงและกลายเป็นสีเขียวเมื่อเราสามารถขับขี่ได้นุ่มนวลและประหยัด ช่วยเตือนสติตอกย้ำจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในหัวใจของผู้ขับขี่ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากและรถยนต์อื่นๆน่าที่จะติดตั้งระบบนี้เข้าไปเพื่อของโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น
ดูเหมือนอะไรๆก็ดูแล้วเป็นภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้าและล้ำยุคทั้งนั้น ช่วยก่อให้ความรู้สึกด้านบวกกับชีวิตแห่งอนาคตได้ชัดเจน ยังขาดก็แต่ประสบการณ์การขับขี่ ซึ่งยังไม่ก่อให้เกิดประสบการณ์ด้านบวกมากนัก จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากสปอร์ตแห่งอนาคตมีรูปแบบการขับขี่เป็นอย่างที่ซีอาร์แซดเป็นจะเป็นอย่างไร ตอบได้อย่างไม่คิดเลยว่า ผมขออยู่กับอดีตต่อไปอีกซักนิดจะดีกว่า......
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น